โดยสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ 45.83% เห็นว่ามาจากปัญหาทางการเมือง ความขัดแย้ง แตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย รองลงมา 37.03% เห็นว่ามาจากประชาชนไม่พึงพอใจการบริหารงานของรัฐบาล โดยเฉพาะการทุจริตคอรัปชั่นในโครงการต่างๆ และอีก 17.14% เห็นว่า การเผชิญหน้า กระทบกระทั่ง ใช้กำลังและอาวุธในที่ชุมนุม
ประชาชนส่วนใหญ่ 90.84% คิดว่าจะมีความรุนแรงในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอีก เพราะยังมีการชุมนุมเรียกร้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งรัฐบาลและ กปปส.ยังไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติเรื่องนี้ได้ ระยะหลังเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจะมีทั้งผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ฯลฯ ส่วนอีก 9.16% ไม่แน่ใจ เพราะไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ได้ เป็นเรื่องที่ควบคุมยาก ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ฯลฯ
ส่วนวิธีแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ 61.68% เห็นว่า ต้องเจรจาพูดคุย หาข้อตกลงร่วมกันอย่างจริงใจ ตรงไปตรงมา รองลงมา 25.23% เห็นว่า ควรถอยคนละก้าว เห็นแก่ส่วนรวม นึกถึงคนในครอบครัวที่เป็นห่วง และอีก 13.09% เห็นว่า ทั้งสองฝ่ายจะต้องไม่ใช้กำลังในการแก้ปัญหา ไม่พกอาวุธทุกชนิด
สำหรับกรณีที่ กปปส.จะติดตามไล่ล่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จนกว่าจะออกไปจากรัฐบาลรักษาการนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ 50.29% เห็นว่า เป็นการกดดันเพื่อให้นายกฯ ลาออก รองลงมา 25.14% เห็นว่า ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายบ้านเมือง และอีก 24.57% สังคมได้รับผลกระทบ มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าว
นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ 69.33% คิดว่าการไล่ล่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะทำให้มีความขัดแย้งเพิ่มขึ้น เพราะทำให้เหตุการณ์บานปลาย เมื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ได้อาจมีการใช้กำลังและความรุนแรง เกิดการสูญเสียตามมา จนเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น ฯลฯ รองลงมา 26.29% ไม่แน่ใจ เพราะความขัดแย้งเกิดขึ้นมีมานาน ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะสั้น ถึงแม้จะถูกกดดันแต่รัฐบาล ยังมีอำนาจในการบริหารงาน ไม่ว่าจะแก้ปัญหาด้วยวิธีใด ความขัดแย้งก็ยังคงอยู่ในสังคมไทย ฯลฯ และอีก 4.38% คิดว่าขัดแย้งเหมือนเดิม เพราะเหตุการณ์ยังคงยืดเยื้อ หาข้อยุติที่ชัดเจนไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างไม่มีใครยอมใคร ทั้งสองฝ่ายต่างมีผู้สนับสนุนของตนเอง ยังคงมีความเห็นและมุมมองที่แตกต่างกัน ฯลฯ
ทั้งนี้ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สอบถามความคิดเห็นดังกล่าวจากประชาชนทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 1,354 คน ระหว่างวันที่ 19-21 กุมภาพันธ์ 2557