ผู้อำนวยการ ศรส. มีความมั่นใจว่าจะชนะคดี เพราะการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในครั้งนี้ ก็เป็นเรื่องทำนองเดียวกันกับเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อปี 53 ในคดีที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งขอให้สั่งว่าการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นไปโดยมิชอบ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอน
โดยศาลแพ่งในปีนั้นได้พิพากษาให้ยกฟ้อง เพราะเห็นว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ มีเจตนารมณ์ที่จะให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักรหรือในบางเขตท้องที่ได้ตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ การที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแก่นายกรัฐมนตรีในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ย่อมเป็นการใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อยู่ในอำนาจหน้าที่และดุลยพินิจของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะศาลมิอาจก้าวล่วงไปพิจารณาหรือทบทวนการใช้ดุลยพินิจของฝ่ายบริหารเช่นว่านั้นได้ ซึ่งในที่สุดศาลอุทธรณ์ก็ได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลแพ่งในขณะนั้น ศรส.จึงเชื่อมั่นว่าศาลอุทธรณ์จะได้มีคำพิพากษาในเรื่องนี้ทำนองเดียวกับเมื่อปี 53
จากกรณีที่ศาลแพ่ง อ้างผลของคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยไว้ว่า การชุมนุมของ กปปส.เป็นไปโดยสงบ เปิดเผย และปราศจากอาวุธ จึงเป็นการชุมนุมโดยชอบนั้น ศรส.เห็นว่าการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนั้น เป็นข้อเท็จจริงในการชุมนุมช่วงแรกของ กปปส. แต่ต่อมาเมื่อเงื่อนไขของการชุมนุมคือการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมได้จบสิ้นไปแล้ว กปปส. ก็มิได้เลิกการชุมนุม กลับยกระดับเป็นการชุมนุมขับไล่รัฐบาล มีการปลุกระดม เชิญชวน ให้มีการล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดินหลายเรื่องหลายกรณีดังเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว เช่น มีการประกาศจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล จัดตั้งสภาประชาชนโดยไม่มีกฎหมายรองรับ จัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครรักษาการแทนตำรวจขึ้นเป็นการเฉพาะ บุกรุกและปิดยึดสถานที่ราชการ ขับไล่ข้าราชการให้เลิกปฏิบัติหน้าที่ การสั่งให้หยุดงาน การสั่งให้หยุดการเสียภาษี ตัดน้ำตัดไฟสถานที่ราชการ ตั้งกองกำลังไล่ล่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เพิ่มเวทีการชุมนุมมากขึ้น ปิดการจราจรในถนนสำคัญๆ จนถึงประกาศปิดกรุงเทพมหานคร รวมถึงกระทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรงด้วยการขัดขวางการเลือกตั้งทั้งในกรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดในภาคใต้ เป็นต้น
ดังนั้น ศรส.จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่าการชุมนุมของ กลุ่ม กปปส.ดังกล่าว เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญภายในวันอังคารที่ 24 ก.พ.นี้ ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการชุมนุมของแกนนำ กปปส.ที่กระทำการแตกต่างไปจากเหตุเดิมเมื่อครั้งการชุมนุมต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม
อนึ่ง การยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ จะเป็นการยื่นในนามขององค์กรพิเศษ คือ ศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. โดยผู้อำนวยการ ศรส.จะเป็นผู้ลงนามยื่น ซึ่งแตกต่างจากที่เคยมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการยื่นในนามบุคคลหลายคนและหลายครั้ง ซึ่งก็ล้วนเป็นเหตุการณ์ในอดีตทั้งสิ้น ศรส.จึงมั่นใจว่าศาลรัฐธรรมนูญจะได้นำเอาเหตุการณ์ที่เป็นปัจจุบันไปใช้ในการวินิจฉัยต่อไป
จากเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างกลุ่ม กปปส.กับตำรวจชุดควบคุมฝูงชน มีการใช้อาวุธสงครามร้ายแรง ระเบิดลูกเกลี้ยง ระเบิดเอ็ม 79 ปืนซุ่มยิงความเร็วสูง และปืนสั้นชนิดต่างๆ รวมทั้งแก๊สน้ำตาระดมยิงเข้าใส่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ เป็นผลให้มีตำรวจและประชาชนเสียชีวิตถึง 5 คน และบาดเจ็บรวม 68 คน ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศเมื่อวันที่ 18 ก.พ.นั้น ศรส.ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งรัดดำเนินการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวโดยเร็ว และจะได้ชี้แจงความคืบหน้าให้ประชาชนทราบเป็นระยะโดยด่วน