ส่วนการเชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล 4 พรรคลงไปประชุมที่ จ.สงขลาด้วยนั้น นายสมชัย ระบุว่า เพื่อต้องการให้พรรคการเมืองได้รับทราบข้อมูลในพื้นที่โดยตรงเพื่อให้จัดการเลือกตั้งให้สำเร็จ แต่ดูเหมือนหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจะออกมาปฏิเสธไม่ร่วมลงไปในพื้นที่ด้วย ซึ่ง กกต.อาจจะสั่งการให้นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทยลงไปร่วมประชุม และไม่อยากให้ผู้ชุมนุมไปขัดขวางการประชุม ควรใช้เหตุผลในการพูดคุยกัน
ทั้งนี้ กกต.จะมีการพิจารณาและออกคำสั่งเชิญข้าราชการระดับสูงด้านความมั่นคงมาประชุมร่วมกับกกต.เพื่อประเมินสถานการณ์ความสงบเรียบร้อย หลังจากยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง และจะเชิญข้าราชการระดับสูงมาชี้แจงกรณีมีข้อร้องเรียนถึงกำหนดการการปฏิบัติภารกิจลงพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมในช่วงก่อนการเลือกตั้ง รวมถึงเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดใน 5 จังหวัดที่จะมีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 มี.ค. เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง
ส่วนกรณีที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมเสนอให้รัฐบาลลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในรูปแบบของคณะรัฐมนตรีสัญจรนั้น นายสมชัย ระบุว่า การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีสามารถทำได้ เพียงแต่ต้องระวังในกรณีที่นายกรัฐมนตรีลงไปพบปะประชาชนในพื้นที่ จะต้องไม่มีการชูป้ายสนับสนุนของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งที่อาจนำไปสู่การทำผิดกฏหมายการเลือกตั้งได้
อย่างไรก็ตาม กรณีที่กระทรวงการคลังเตรียมออกพันธบัตรเพื่อมาแก้ปัญหาในโครงการรับจำนำข้าว ควรต้องสอบถามความเห็นมายังกกต.ก่อนหรือไม่นั้น นายสมชัย ระบุว่า เรื่องนี้ไม่มีความจำเป็นต้องถามมายังกกต. เพราะไม่อยู่ในอำนาจที่กกต.จะพิจารณาหรือตัดสินใจได้ ทางรัฐบาลจะเป็นผู้พิจารณาเอง แต่ในมาตรา 181 (3) ของรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ว่ารัฐบาลต้องไม่ดำเนินการใดที่มีผลผูกพันธ์กับรัฐบาลชุดต่อไป