ทั้งนี้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน แม้กระทั่งชีวิตของเด็กและผู้บริสุทธิ์ ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก เกษตรกร และผู้ใช้แรงงาน ซึ่งไม่สามารถรองรับความสูญเสียที่ยืดเยื้อได้ และยังกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน ซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียขีดความสามารถและโอกาสในการแข่งขันในเวทีภูมิภาค
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4-5% ก็อาจจะขยายตัวเพียง 2-3% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพของไทย คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสีย 240,000 ล้านบาท โดยตั้งแต่เกิดสถานการณ์การเมืองเมื่อเดือนธันวาคมจนถึงขณะนี้มีการสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจไปแล้วกว่า 60,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนมองว่าการที่ทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มเจรจาหาทางออกร่วมกันถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่งหวังว่าจะเป็นทางออกของประเทศได้
ด้านนางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการคืนพื้นที่ของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) บริเวณย่านธุรกิจ คาดว่าไตรมาสที่ 3 และ 4 เศรษฐกิจจะฟื้นตัว อย่างไรก็ตามภายใน 2-3 อาทิตย์นี้จะประเมินสถานการณ์เพื่อปรับตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นอีกครั้ง
ทั้งนี้ จากการประเมินความเสียหายจากการชุมนุมที่ผ่านมา พบว่า นักท่องเที่ยวลดลงจำนวน 1.7 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 8.2 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 6% ของทั้งปี
"สัญญาณการเจรจาเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการอยากขอบคุณ เพราะที่ผ่านมาเสียหายมามาก แต่เชื่อว่าการใช้อาวุธสงครามจะไม่ทำให้กรุงเทพฯ เกิดสงครามกลางเมือง และมีการเตือนนักท่องเที่ยวรวม 48 ประเทศ ต่างจากปี 53 ที่สถานการณ์รุนแรงกว่าจนมีการเตือนกว่า 100 ประเทศ"นางปิยะมาน กล่าว
สำหรับ 7 องค์กรภาคเอกชน ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.), สมาคมธนาคารไทย, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย