ป.ป.ช.เล็งขยายผลดำเนินคดีคนในรัฐบาลกรณีสั่งการให้ กวป.ปิดล้อมสำนักงานฯ

ข่าวการเมือง Tuesday March 4, 2014 10:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ชี้แจงถึงความคืบหน้ากรณีผู้ชุมนุมกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาชน(กวป.) ปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. โดยระบุว่า สืบเนื่องจากประธานวุฒิสภาได้ส่งคำร้องขอให้วุฒิสภาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีเหตุควรสงสัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว โดยเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการตามอำนาจหน้าที่นั้น และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะองค์คณะไต่สวนได้มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 18 ก.พ.57 ให้มีหนังสือเรียก น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาพบและแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบตามระเบียบไต่สวนการทุจริตเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวในวันที่ 27 ก.พ.57 เวลา 14.00 น.

แต่ปรากฏว่ากลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาชน(กวป.) นำโดยนายชาญ ไชยยะ รองประธาน กวป.,นายสมศักดิ์ ล้อเพชรรุ่งเรือง เลขาธิการ กวป., นายศรรักษ์ มาลัยทอง โฆษก กวป. พร้อมมวลชนประมาณ 200 คน รวมตัวกันปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. โดยใช้โซ่คล้องพร้อมล็อกกุญแจห้ามรถและเจ้าหน้าที่เข้า-ออกเด็ดขาด มีการเตรียมการเทปูนกีดขวางประตู และปีนรั้วเข้ามาภายในสำนักงาน ป.ป.ช. อันถือว่าเป็นความผิดฐานบุกรุก และปิดถนนการจราจรฝั่งด้านหน้าสำนักงาน ป.ป.ช.ช่องทางขาออกมุ่งหน้าถนนติวานนท์ พร้อมตั้งเวทีปราศรัยโดยมีการปักหลักค้างคืน ตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.57 ถึงวันที่ 1 มี.ค.57 เพื่อให้สำนักงาน ป.ป.ช.ยุติการไต่สวนคดีทุจริตการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และปราศรัยว่าการพิจารณาคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นสองมาตรฐานเมื่อเปรียบเทียบกับการไต่สวนโครงการระบายข้าวสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช.ขอชี้แจงข้อมูลจากเหตุการณ์ดังกล่าวใน 2 ประเด็นคือ

ประเด็นที่ 1 รักษาการนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ทนายความมารับทราบข้อกล่าวหาเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว และยินดีให้ความร่วมมือโดยสำนักงาน ป.ป.ช.ได้แจ้งข้อกล่าวหากับทางทนายความเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 27 ก.พ.57 เวลา 14.00 น. ณ เทศบาลนครนนทบุรี และให้นำข้อกล่าวหาไปมอบให้รักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งในคดีการถอดถอนและคดีอาญาดังกล่าวมีขั้นตอนชัดเจน และให้สิทธิขั้นพื้นฐานที่จะให้ผู้ถูกกล่าวหาที่มารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว สามารถชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ภายใน 15 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 14 มี.ค.57 และในการชี้แจงข้อกล่าวหาดังกล่าวก็ทำได้ทั้งการเดินทางมาด้วยตัวเองก็จะเป็นประโยชน์ในการแถลงชี้แจงเพิ่มเติมได้อีก หรือจะส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือลายลักษณ์อักษรก็สามารถทำได้ตามขั้นตอนของกฎหมาย หลังจากยื่นพยานหลักฐานมาเรียบร้อยแล้ว สำนักงาน ป.ป.ช.จะพิจารณาว่าจะไต่สวนพยานเพิ่มเติมอะไรหรือไม่ เพื่อลงมติชี้มูลต่อไป ขอเรียนว่า สำนักงาน ป.ป.ช.ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่เคยมีอคติในการทำงาน และไม่มีธงในการทำงานแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 2 กรณีผู้ชุมนุมกลุ่ม กวป.นำมวลชนปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช.และปักหลักชุมนุมค้างคืน พร้อมทั้งตั้งเวทีบนถนนบริเวณด้านหน้าสำนักงาน ป.ป.ช.ตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.-1 มี.ค.57 และได้มีการกระทำที่เป็นการละเมิดต่อกฎหมายชัดเจน เช่น กรณีใช้โซ่ล่ามและล็อกกุญแจประตู เตรียมเทปูนกีดขวางประตู หรือปีนรั้วเข้ามาภายในสำนักงานถือว่าเป็นความผิดฐานบุกรุก ซึ่งเป็นเรื่องการข่มขู่ไม่ให้สำนักงาน ป.ป.ช.ทำงาน ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ก็มีการเจรจากับทางผู้ชุมนุมอยู่ตลอดเวลา และสำนักงาน ป.ป.ช.กำลังเก็บรวบรวมหลักฐานเพื่อที่จะแจ้งความดำเนินคดีต่อไป

ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช.ได้เคยแจ้งความไปแล้วจนเมื่อวันที่ 20 ก.พ.57 ศาลได้มีการออกหมายจับ 5 แกนนำที่บุกรุกเข้ามาในบริเวณสำนักงาน ป.ป.ช.เพื่อให้ยุติการไต่สวนคดีทุจริตรับจำนำข้าว โดยการปีนรั้วด้านหน้าของสำนักงาน ป.ป.ช.และมีการใช้ค้อนทุบทำลายกุญแจและโซ่ที่ล็อกประตูรั้วด้านหน้าสำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 17 ก.พ.57 ได้แก่ 1.นายศรรักษ์ มาลัยทอง หรือนายมาลัยรักษ์ ทองชัย 2.นายผัน โพธิ์ทอง 3.นายวรัญชัย โชคชนะ 4.นายกองพล นาวา 5.นายชาญ ไชยยะ

อย่างไรก็ตาม สำหรับการชุมนุมในครั้งนี้ก็ได้มีการละเมิดต่อกฎหมายชัดเจนอีกเช่นเดิม ขณะนี้สำนักงาน ป.ป.ช.กำลังเก็บรวบรวมหลักฐานเพื่อที่จะแจ้งความดำเนินคดีต่อไป

พร้อมกันนี้ สำนักงาน ป.ป.ช.กำลังพิจารณาว่าการปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช.เป็นการทำตามคำสั่งของรัฐมนตรีหรือผู้มีอำนาจในรัฐบาลหรือไม่ เพราะมีหลักฐานเป็นคลิปการปราศรัยที่จังหวัดนครราชสีมาเมื่อวันที่ 23 ก.พ.57 ที่มีรัฐมนตรีและคนในรัฐบาลสั่งการในลักษณะให้มีการเคลื่อนไหวกดดันองค์กรอิสระและศาล ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช.จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้สั่งการข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 123/1 ดังนั้นหากมีพยานหลักฐานเกี่ยวข้องถึงผู้ใดก็จะสอบขยายผลต่อไป

ส่วนเมื่อวันที่ 28 ก.พ.57 ผู้ชุมนุมของกลุ่ม กวป.และ นปช.นนทบุรี ที่มาปิดล้อม สำนักงาน ป.ป.ช.และให้หญิงประมาณ 5 คน ปีนรั้วเข้าไปในเขตสำนักงาน ป.ป.ช. เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวไว้ 2 คน คือ นางเอสีห์ เอี่ยมภัทรนนท์ และนางเพ็ญศรี เจริญเณรรักษา พร้อมทั้งแจ้งความดำเนินคดีที่ สภ.ลาดโตนด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งต่อมาแกนนำมาประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน

จากการประชุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 23 ก.พ.57 ที่เวทีอาคารลิปตพัลลภฮอลล์ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นครราชสีมา ภายใต้ชื่อ นปช.ลั่นกลองรบ ซึ่งมีแกนนำคือ นายรัตน์ ภู่กลาง จากจังหวัดตรัง ขึ้นเวทีปราศรัย โดยกล่าวพาดพิงถึงการทำงานและข่มขู่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช.ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช.เข้าไปดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษแก่บุคคลดังกล่าวกับกองบังคับการปราบปรามแล้วเมื่อวันที่ 3 มี.ค.57 เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายกับแกนนำ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 139 ที่บัญญัติว่าผู้ใดข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันไม่ชอบด้วยหน้าที่ หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ย่อมมีความผิดและถูกลงโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินแปดพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ