แต่ส่วนตัวแล้วเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับนี้ค่อนข้างจะไม่เข้มข้นเหมือนกับสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ผอ.ศอฉ.ประกาศใช้เมื่อปี 53
"ถ้าดูตามข้อเท็จจริงตามที่ศาลแพ่งสั่งห้าม 9 ข้อแล้ว จะพบว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับนี้แทบจะทำอะไรไม่ได้เลย กปปส.ถึงได้เหิมเกริมเหมือนอันธพาลเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ได้ ถ้าภาคเอกชน 7 องค์กรมีใจเป็นธรรม ใช้วิจารณญาณออกก็คงไม่เรียกร้อง เมื่อสมัยปี 53 พ.ร.ก.ฉุกเฉินใช้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แล้ว 7 องค์กรภาคเอกชนไปอยู่ที่ไหน เชื่อว่ากลุ่มดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับ กปปส."ผอ.ศรส. กล่าว
ผู้สื่อข่าวยังขอให้ประเมินสถานการณ์การเมืองขณะนี้ ซึ่ง ผอ.ศรส. กล่าวว่า ดูยากเพราะการเมืองวันนี้ขึ้นลงเร็ว แต่ฟันธงว่ายังไม่สงบ เพราะยังล้มรัฐบาลไม่ได้ ยังล้มนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ก็จะปั่นป่วนกันไปอย่างนี้ ผู้ชุมนุมมีเบื้องหลังจะทำให้ไม่จบ ถ้าฝ่ายความมั่นคงรายงานนายกรัฐมนตรีว่าจบ ตนก็ไม่คัดค้าน แต่ขอยืนยันในฐานะที่อยู่กับการเมืองมาหลายสิบปีว่ายังไม่จบ เพราะจะมีตัวละครแปลกๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะไม่เปิดเผย และที่บอกว่ายังไม่จบตอนนี้ เพราะกระแสแปรเปลี่ยนได้ ยังล้มรัฐบาลไม่ได้ มองว่าม็อบยังอยู่อีกยาว แต่ไม่รู้ว่าจะยาวถึงเมื่อไร
ส่วนที่มีการประเมินกันว่ากลุ่ม กปปส.จะรอดูท่าทีขององค์กรอิสระอย่างเช่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)นั้น ผอ.ศรส. กล่าวว่า นั่นเป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่กล้าพูดว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ถ้าหากรัฐบาลแพ้ในเกมนี้ ประเมินว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ผอ.ศรส. กล่าวว่า คิดว่าม็อบเยอะ ถ้าใช้มาตรา 7 ยังมีมาตรา 181 ถ้าเอานายกรัฐมนตรีคนกลางมาแล้วคนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ จะทำให้ยุ่ง
ร.ต.อ.เฉลิม ยังกล่าวถึงกรณีของ สปป.ล้านนาว่า การที่ผู้บัญชาการทหารบกมอบหมายให้แจ้งความนั้นถูกต้องแล้ว และเป็นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาที่จะแก้ข้อกล่าวหาได้ แต่อย่าไปตัดสิทธิคนที่ถูกกล่าวหา ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ต้องทำหน้าที่สอบสวน หากปรากฏหลักฐานว่าผิดก็ต้องสั่งฟ้องดำเนินคดี
ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นยุบพรรคเพื่อไทยนั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า หากพรรคถูกยุบก็คงต้องยุบ ถ้าไม่มีใครตั้งพรรค ตนจะตั้งพรรคใหม่ขึ้นเอง แต่ไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย โดยตนอาจกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกสักครั้งก่อนที่จะเลิกเล่นการเมือง และจะตั้งชื่อว่า"พรรคทักษิณ"