"กรณีนี้ก็เหมือนกับการอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่แม้จะไม่ได้เป็น ส.ส.แล้ว ด้วยผลจากการยุบสภา แต่รัฐธรรมนูญก็ยังให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งเช่นเดียวกันกับการอยู่ในตำแหน่งประธานวุฒิสภา ของนายประสพสุข บุญเดช ในระหว่างที่มีการสรรหา ส.ว.ชุดใหม่ เมื่อปี 2554 ที่นายประสพสุขแม้จะพ้นจากตำแหน่ง ส.ว.สรรหาแล้ว แต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภาต่อไปจนถึงวันเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่" นายนิคม กล่าว
นายนิคม กล่าวว่า ประเด็นนี้ไม่น่าจะเป็นเหตุให้มีการยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความได้ เพราะไม่ใช่เป็นความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามการพยามยามเรียกร้องให้ตนเองออกจากตำแหน่งเชื่อว่ามีนัยยะทางการเมือง เพราะหากไม่มีนัยยะทางการเมือง ทำไมจึงไม่มีการพูดถึงการดำรงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ของ นพ.อนันต์ วิริยะชัยพาณิชย์ ส.ว.สุรินทร์ ด้วย ทั้งที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง ส.ว.เลือกตั้ง เช่นกัน
นายนิคม กล่าวว่า ในวันที่ 6 มี.ค.นี้ เวลา 14.00 น. นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา ได้นัดประธานคณะกรรมาธิการ จำนวน 22 คณะประชุมเพื่อชี้แจงการปฏิบัติหน้าที่ ส.ว.หลังครบวาระดำรงตำแหน่งและระหว่างการเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่ฝ่ายข้าราชการประจำเป็นผู้ดำเนินการ เบื้องต้นคาดว่าจะมี ส.ว.ที่ติดใจในประเด็นการยังคงอยู่ตำแหน่งประธานวุฒิสภาของตนเองหยิบยกขึ้นมาซักถาม ก็ต้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการชี้แจง ส่วนจะเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่ ส่วนตนเองจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว
นายนิคม กล่าวว่า การเลือกตั้ง ส.ว.ชุดใหม่จะเป็นไปอย่างเรียบร้อย ส่วนปัญหาเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ว.ชุดใหม่ ในระหว่างที่ไม่มีสมัยประชุมสภานั้น ตนเองจะใช้จังหวะของการเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132(2) ที่ต้องดำเนินการสรรหาและตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรม จริยธรรมผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แทนนายใจเด็ด พรไชยา ป.ป.ช.ที่จะหมดวาระในวันที่ 12 มี.ค.นี้ เนื่องจากมีอายุครบ 70 ปี ซึ่งคาดว่า ส.ว.เลือกตั้งชุดใหม่จะสามารถปฏิญาณตนในที่ประชุมวุฒิสภาช่วงเดือน เม.ย.