ศรส.จะยื่นให้ศาลรธน.วินิจฉัยการชุมนุมของ กปปส.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข่าวการเมือง Wednesday March 5, 2014 13:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) แถลงผลประชุมศูนย์รักษาความสงบ(ศรส.) วันนี้ว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผู้อำนวยการ ศรส.ได้ลงนามคำร้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติมาตรา 68ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อขอให้วินิจฉัยว่าการชุมนุมของกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยแม้ในเรื่องนี้จะเคยมีผู้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหลายครั้งแล้ว แต่ ศรส.เห็นว่าการนำเสนอข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะการกระทำผิดต่างๆ ของแกนนำ กปปส.อย่างต่อเนื่องและต่างกรรมต่างวาระ ตลอดจนพยานหลักฐานต่างๆ โดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดแก่ประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความเดือดร้อนของประชาชนที่จะเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นต้องครบถ้วนสมบูรณ์

"ดังนั้น คำร้องที่ยื่นในวันนี้จึงมีรายละเอียดดังกล่าวอย่างครบถ้วนถึง 89 แฟ้ม (แฟ้มละประมาณ 300 หน้า) โดยการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จะเป็นผู้ยื่นทั้งในฐานะส่วนตัว และในฐานะผู้อำนวยการ ศรส."

พร้อมระบุว่า ศรส.เป็นองค์กรพิเศษที่จัดตั้งตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดย ศรส.ไม่ใช่คู่กรณีหรือคู่ขัดแย้งกับกลุ่มใด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม กปปส., กลุ่มคัดค้าน กปปส., กลุ่ม นปช. หรือกลุ่มอื่น แต่ ศรส.มีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย และบังคับใช้กฎหมายเพื่อนำความสงบสุขกลับสู่สังคมโดยเร็ว แต่เนื่องจากศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาสั่งห้าม ศรส.ดำเนินการในเรื่องที่เป็นภารกิจหลักอันสำคัญถึง 9 ข้อ ศรส.จึงอยู่ในสภาพขาดเครื่องมือตามกฎหมายที่จะดำเนินการในมาตรการสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเหตุร้ายและความรุนแรงที่เกิดขึ้นรายวันอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว ศรส.ก็ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการทำหน้าที่เท่าที่พอจะทำได้ เช่น การแจ้งเตือนประชาชนให้งดเว้นการเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. และกลุ่มอื่นๆ ทุกกลุ่ม การพยายามเจรจาให้มีการเปิดพื้นที่สี่แยกและถนนสาธารณะจากผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม การดูแลและป้องกันสถานที่ราชการที่ถูกกลุ่ม กปปส.เข้าปิดล้อมให้สามารถเปิดบริการประชาชนตามปกติให้จงได้ และการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำผิดในทุกฐานความผิดที่มีการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำผิดด้วยการขัดขวางการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา อันส่งผลเสียหายจนไม่สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตามกำหนดวันที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ได้ เพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำผิดมิให้เกิดขึ้นอีกในอนาคตที่จะมีการจัดการเลือกตั้งขึ้นอีก

ทั้งนี้ ศรส.ได้รับรายงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ณ วันที่ 5 มีนาคม 2557 ว่า ได้รับคดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง ดังนี้

1.คดีขัดขวางการเลือกตั้งทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 190 คดี แยกเป็นคดีที่ กปปส.ในกรุงเทพมหานครกระทำการขัดขวางการเลือกตั้ง 51 คดี และคดีที่ กปปส.ในต่างจังหวัดกระทำการขัดขวางการเลือกตั้ง 139 คดี

2.คดีที่เจ้าหน้าที่ กกต.จงใจละทิ้งไม่จัดการเลือกตั้ง รวมทั้งสิ้น 174 คดี แยกเป็นคดีที่เกิดในกรุงเทพมหานคร 63 คดี และคดีที่เกิดในต่างจังหวัดจำนวน 111 คดี

รวมคดีที่เกี่ยวกับการกระทำผิดต่อกฎหมายเลือกตั้งทั้งสิ้น 364 คดี โดยศาลได้ออกหมายจับให้ รวมทั้งสิ้น 163 คน ได้ตัวมาสอบสวนแล้ว 66 คน ทั้งนี้เฉพาะเจ้าหน้าที่ กกต.จงใจละทิ้งไม่จัดการเลือกตั้งมีจำนวนถึง 1,451 คน ซึ่งโทษที่เกี่ยวข้องกับการขัดขวางการเลือกตั้งเป็นความผิดอุกฉกรรจ์ที่มีทั้งโทษจำคุกและปรับ รวมถึงการตัดสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ