สัดส่วนของผู้ที่ระบุว่ากังวลใจมากและค่อนข้างกังวลใจเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนนั้นให้เหตุผลว่าหากมีการสร้างข่าวลือ และมีผู้หลงเชื่อในข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เกิดความสับสนและไข้วเขว อาจเกิดการรวมตัวและต้องการแบ่งแยกดินแดนจริงๆ แต่ผู้ที่ระบุว่าไม่ค่อยกังวลใจและไม่กังวลใจเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนให้เหตุผลว่าเป็นแค่แนวคิดของคนบางกลุ่ม และเป็นเพียงการสร้างข่าวเพื่อสร้างความแตกแยก การแบ่งแยกดินแดนมีความเป็นไปได้ยากและไม่สามารถทำได้เลย หากมีการแบ่งแยกจริง หน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะต้องออกมาปกป้องและมิให้มีเหตุการณ์เช่นนี้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.84 ระบุว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการแบ่งแยกดินแดน เพราะผิดกฏหมายรัฐธรรมนูญตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นเพียงแค่กระแสข่าวที่ต้องการสร้างความแตกแยกของคนในชาติ เพราะกว่าจะเป็นสยามประเทศต้องสูญเสียบรรพบุรุษมาหลายรุ่น หากแบ่งแยกไปแล้ว ขวานทองก็จะไม่เป็นขวานทองอีกต่อไป ประชาชนทั้งประเทศและทุกฝ่ายคงไม่ยอมให้แบ่งแยกดินแดนอย่างแน่นอน
ขณะที่มีเพียง ร้อยละ 7.84 ระบุว่า เป็นไปได้ที่จะมีการแบ่งแยกดินแดน เพราะมีความคิดของคนกลุ่มหนึ่งอยู่จริง และมีกลุ่มที่ต้องการสร้างความแตกแยกให้กับคนไทยด้วยกัน รวมทั้งเคยมีแนวคิดแบ่งแยกดินแดนในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย และร้อยละ 4.32 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองในประเทศไทยนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 28.56 ระบุว่ากังวลใจมาก, ร้อยละ 27.52 ระบุว่าค่อนข้างกังวลใจ, ร้อยละ 16.64 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวลใจ, ร้อยละ 24.48 ระบุว่าไม่กังวลใจ และ ร้อยละ 2.80 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ทั้งนี้ สัดส่วนของผู้ที่ระบุว่ากังวลใจมากและค่อนข้างกังวลใจว่าจะเกิดสงครามกลางเมือง ให้เหตุผลว่าทุกครั้งที่ผ่านมาการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงต้องมีเหตการณ์ความวุ่นวาย การก่อเหตุจราจล และหากยิ่งมีการเผชิญหน้ากันหรือปะทะกันกับกลุ่ม กปปส.อาจจะเกิดเหตุการณ์วุ่นวายมากกว่าเดิม โดยเฉพาะการก่อความไม่สงบของมือที่ 3 สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยกังวลใจและไม่กังวลใจว่าจะเกิดสงครามกลางเมืองให้เหตุผลว่าไม่น่าจะเกิดความรุนแรงบานปลายขนาดนั้น เชื่อว่าแกนนำจะต้องหาทางป้องกันมิให้กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายมาเผชิญหน้ากัน และตำรวจและทหารก็น่าจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้
ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่เลขาธิการ กปปส.ประกาศยุบรวมเวทีทั้งหมดใน กทม.ให้เหลือที่สวนลุมพินีเพียงจุดเดียว พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.12 ระบุว่าเห็นด้วย เพราะจะได้ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนในบริเวณที่มีการตั้งเวที ทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ และในช่วงระยะหลังมีเหตุการณ์รุนแรงบ่อยมากขึ้น เป็นการสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุม รองลงมาร้อยละ 10.40 ระบุว่าไม่ควรมีการจัดตั้งเวทีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ตั้งแต่แรก, ร้อยละ 6.32 ระบุว่าไม่เห็นด้วย เพราะเหมือนเป็นการยอมแพ้กับฝ่ายรัฐบาล และร้อยละ 8.16 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
กรณีเกี่ยวกับข้อเสนอที่รมว.ต่างประเทศเสนอให้เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) มาเป็นคนกลางในการเจรจาระหว่างกลุ่ม กปปส. และรัฐบาลรักษาการนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.52 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นเรื่องการเมืองของภายในประเทศที่น่าจะสามารถพูดคุย เจรจาตกลงกันได้ และคนภายนอกไม่ทราบถึงรายละเอียด หรือประเด็นของความขัดแย้งได้ดีเท่าคนในประเทศ รองลงมา ร้อยละ 34.64 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายจะได้ยุติลง และเป็นคนกลางที่ทั่วโลกให้การยอมรับและนับถือพอสมควร และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับฝ่ายใดอย่างแท้จริง และร้อยละ 11.84 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
อนึ่ง นิด้าโพลล์ สำรวจความคิดเห็นของประชาชน ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3 – 4 มีนาคม 2557 จากประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ