โดยปกติในทางปฏิบัติ นายกรัฐมนตรีต้องเดินทางมาขอตรวจพยานหลักฐานด้วยตนเองเช่นเดียวกับคดีกล่าวหาบุคคลอื่น ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการไต่สวนข้อเท็จจริง พ.ศ.2555 ข้อ 40 ที่ผู้ถูกกล่าวหาอาจยื่นคำร้องขอเป็นหนังสือพร้อมด้วยเหตุผลต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อขอตรวจพยานหลักฐานในสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการชี้แจงข้อกล่าวหาได้
ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงความรุนแรงและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้แล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าเมื่อรักษาการนายกรัฐมนตรีประสงค์จะขอให้ทนายความผู้รับมอบอำนาจเข้ามาตรวจพยานหลักฐานแทนตน นายกรัฐมนตรีก็จะต้องดำเนินการสั่งการมิให้มีเหตุการณ์ชุมนุม ข่มขู่ ขัดขวาง คุกคามในการปฏิบัติหน้าที่และการไต่สวนคดีดังกล่าวของเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการ ป.ป.ช.อย่างเด็ดขาด
คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติในการประชุมเมื่อวานนี้(4 มี.ค.) ว่าให้สำนักงาน ป.ป.ช.มีหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีภายในวันนี้ว่า อนุญาตให้ทนายความผู้รับมอบอำนาจสามารถมาตรวจสอบพยานหลักฐาน แทนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น หากมีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้นในระหว่างขอตรวจพยานหลักฐาน เช่น การข่มขู่ ขัดขวาง คุกคามจากกลุ่มมวลชนให้ยุติการไต่สวนนายกรัฐมนตรี ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะยุติการอนุญาตให้ตรวจพยานหลักฐานดังกล่าวทันที
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้มีกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาชน(กวป.) และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมมวลชนประมาณ 200 คน รวมตัวกันปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. โดยใช้โซ่คล้องพร้อมล็อกกุญแจประตูด้านหน้าสำนักงาน ป.ป.ช. ห้ามรถและเจ้าหน้าที่เข้า-ออกเด็ดขาด มีการเตรียมการเทปูนกีดขวางประตู และปีนรั้วเข้ามาภายในสำนักงาน ป.ป.ช.อันถือว่าเป็นความผิดฐานบุกรุก และปิดถนนการจราจรฝั่งด้านหน้าสำนักงาน ป.ป.ช.ช่องทางขาออกมุ่งหน้าถนนติวานนท์ พร้อมตั้งเวทีปราศรัยโดยมีการปักหลักค้างคืน ตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.- 1 มี.ค.57 เพื่อให้สำนักงาน ป.ป.ช. ยุติการไต่สวนคดีทุจริตการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และเรียกร้องให้กรรมการ ป.ป.ช.ลาออก
และในวันที่ 4 มี.ค.57 มีการขว้างระเบิดจากรั้วฝั่งด้านตะวันออก ซอยนนทบุรี เข้ามาภายในสำนักงาน ป.ป.ช.สนามบินน้ำ แม้การชุมนุมจะยุติไปแล้ว แต่แกนนำก็ยังยืนยันที่จะมาปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช.อีก หากกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ลาออกจากตำแหน่งภายในเวลาที่กำหนดไว้