ทั้งนี้ ศาลฎีกาฯ วินิจฉัยประการแรกตามข้อโต้แย้งว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. โจทก์ ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ การแต่งตั้งจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 หรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับแต่งตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 ซึ่งตามประกาศดังกล่าวในข้อ 1 กำหนดให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับต่อไป โดยให้งดการบังคับใช้บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการสรรหา
ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งมิได้มาจากการสรรหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 7 จึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการแต่ประการใด และถือว่าเป็นคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ในที่สุดศาลฯ จึงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 12 ปี และจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 10 ปี อันเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั่วไป
ส่วนการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อประธานวุฒิสภา ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้ ก็ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อประธานวุฒิสภาครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ทุกประการ