ส่วนการที่นักธุรกิจขอให้ยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ขึ้นอยู่กับศูนย์รักษาความสงบ(ศรส.) และหน่วยงานความมั่นคงที่จะประเมิน และอยากขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมอย่าชุมนุมยืดเยื้อ เพราะกำลังส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้เกิดความรุนแรง หรือกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนอยู่แล้ว โดยเฉพาะการขัดขวางการเลือกตั้งที่ทำให้กลไกลต่างๆ ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้
"เมื่อไม่มีรัฐบาลใหม่ ความเชื่อมั่นต่างๆ ก็จะหายไป การพัฒนาก็จะสะดุด ผู้ชุมนุมจึงควรคำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศ และรับฟังเสียงส่วนใหญ่ของประเทศด้วย เพราะลำพังรัฐบาลอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หรือแม้แต่ข้อเสนอให้ตนเองหารือกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขา กปปส.เจรจาผ่านการถ่ายทอดสดก็ไม่ใช่ทางออก เนื่องจากคนเพียงสองคนไม่สามารถตัดสินใจแทนคนทั้งประเทศได้" นายกรัฐมนตรี กล่าว
พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมายอมรับว่าได้ถอยทุกอย่างแล้ว แต่ที่ต้องอยู่ทำหน้าที่ก็เพื่อรักษาประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ยึดติดกับอำนาจหรือตำแหน่ง ส่วนที่ออกตรวจงานราชการต่างจังหวัดเพื่อหลีกเลี่ยงการทำงาน ในกทม. เพื่อไม่อยากตกเป็นเป้าหรือถูกมองว่าเป็นการท้าทาย จึงหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า
"ขอให้ผู้ชุมนุมอย่าปลูกฝังนิสัยสร้างความเกลียดชัง และยืนยันว่าไม่เคยละเลยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและภาพรวม ยังคงติดตามการทำงานอย่างต่อเนื่อง วันนี้หน่วยราชการทำงานไม่ได้เลย ถามว่าวันนี้จะให้เศรษฐกิจเดินไปอย่างไรในเมื่อทุกฝ่ายปิดขวางระบบราชการ ข้าราชการต้องทำงาน วันนี้ไม่มีเอกสารสักฉบับ เดินเข้าที่ทำงานก็ไม่ได้ จะให้ขับเคลื่อนประเทศได้อย่างไร" นายกรัฐมนตรี กล่าว