นายนิคม กล่าวว่า กรณีการยื่นถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช.ขั้นตอนจะแตกต่างจากการถอดถอนกรณีอื่น เนื่องจากการถอดถอนกรณีอื่นนั้น หลังจากวุฒิสภารับเรื่องจากผู้ร้องแล้วต้องส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวน หากมีความผิดจริงก็ส่งกลับมายังวุฒิสภา เพื่อดำเนินการถอดถอนต่อไป แต่กรณีนี้เป็นการถอดถอนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้นเมื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารการยื่นถอดถอนแล้ว วุฒิสภาจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อดำเนินการไต่สวนหาข้อเท็จจริง แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการถอดถอน โดยการประชุมวุฒิสภาและต้องมีสมาชิกเห็นด้วย 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดจึงจะสามารถถอดถอนได้ อย่างไรก็ตามขั้นตอนดังกล่าวจะต้องดำเนินการหลังจากที่สามารถเปิดการประชุมวุฒิสภาได้
สำหรับกรณีการแสดงตนต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ผู้ยื่นต้องรวบรวมรายชื่อประชาชนให้ครบ 20,000 ชื่อ และยื่นคำร้องถอดถอนภายใน 180 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 2 กันยายน 2557
ด้านนายสุนัย จุลพงศธร อดีตส.ส.เพื่อไทย ชี้แจงเหตุผลที่ยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า เนื่องจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 6 คน ประกอบด้วย นายจรูญ อินทจาร, นายจรัญ ภักดีธนากุล, นายนุรักษ์ มาประณีต, นายเฉลิมพล เอกอุรุ, นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ มีพฤติการส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กรณีมีมติรับพิจารณาคดีคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทั้งกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 และ มาตรา 190 รวมถึงการแก้ไขเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา
นายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ อดีตส.ส.เพื่อไทย ได้ชี้แจงถึงเหตุผลการยื่นถอดถอนคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.วางตัวไม่เป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นจึงรวบรวมรายชื่อประชาชนจำนวน 21,224 รายชื่อ เพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง