และจากสถานการณ์บ้านเมือง ณ ขณะนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ 68.06% คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะหาคนกลางเข้ามาดำเนินการ เพราะประเทศชาติและประชาชนได้รับผลกระทบมามากพอแล้ว เป็นเหตุการณ์ที่ยืดเยื้อมานานไม่อยากให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น อยากเห็นบ้านเมืองสงบสุข ทุกคนช่วยกันพัฒนาประเทศ ฯลฯ ประชาชนอีก 24.72% ยังไม่แน่ใจ เพราะควรประเมินสถานการณ์ให้ละเอียดรอบคอบ อาจเป็นเพียงกระแสในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ฯลฯ แต่อีก 7.22% คิดว่ายังไม่ถึงเวลา เพราะอยากให้ทั้ง 2 ฝ่ายเจรจากันเองมากกว่า การที่จะหาคนกลางเข้ามาทำหน้าที่นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และคงต้องใช้เวลาในการหาพอสมควร ฯลฯ
สำหรับบทบาทและหน้าที่ของผู้ที่จะมาเป็นคนกลางนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ 44.81% ควรเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เป็นที่รู้จัก ประวัติดี มีคุณธรรม รองลงมา 32.05% ฉลาด มีไหวพริบ เข้าใจพูด พูดเป็น ไม่บิดเบือนข้อมูล และ 23.14% ทำหน้าที่ให้เต็มที่ ทำเพื่อส่วนรวม ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้
โคยคนกลางที่ประชาชนเห็นว่ามีความเหมาะสมในครั้งนี้ 41.47% คือกลุ่มองค์กรหรือหน่วยงานที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง รองลงมา 27.13% คือกองทัพ อันดับสาม 23.64% คือ ศาลฎีกา
หากมีคนกลางแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ 49.17% คิดว่าสถานการณ์ทางการเมืองท่ามกลางความขัดแย้งที่มีอยู่ในขณะนี้จะคลี่คลายลง เพราะได้พูดคุยและเข้าใจกันมากขึ้น รู้ถึงเหตุผล มุมมอง และความต้องการของแต่ละฝ่าย สถานการณ์ต่างๆน่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ฯลฯ รองลงมาอีก 41.39% คิดว่า ยังคงขัดแย้งเหมือนเดิม เพราะการเมืองไทยเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อและสั่งสมมานาน ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน มีหลายเรื่องที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ฯลฯ แต่อีก 9.44% คิดว่า ขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น เพราะยังไม่รู้ว่าคนกลางจะเจรจาได้สำเร็จหรือไม่ กลุ่มที่สนับสนุนของแต่ละฝ่ายอาจไม่เห็นด้วยกับการเจรจา ฯลฯ
อุปสรรคในการหาคนกลางมาช่วยให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นนั้น ประชาชน 39.27% คิดว่าคงหาคนกลางที่เหมาะสมหรือมีคุณสมบัติตามที่ต้องการไม่ได้ หรือไม่มีใครอยากทำหน้าที่เป็นคนกลาง รองลงมา 35.59% คิดว่าคนกลางที่หาได้อาจไม่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เกิดการต่อต้าน คัดค้าน และอีก 25.14% คิดว่าการทำหน้าที่ของคนกลางอาจถูกแทรกแซง ข่มขู่ ได้รับความกดดันหรือสังคมคาดหวังมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ 42.78% มีข้อเสนอแนะต่อคนกลางที่จะเข้ามาดำเนินการในครั้งนี้ คือ ต้องอดทน มีสติ เข้าใจต่อสถานการณ์ต่างๆที่จะต้องเผชิญทั้งในเรื่องของการข่มขู่ หรือความไม่ปลอดภัย รองลงมา 29.38% คือ ทำหน้าที่อย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา แจ้งความคืบหน้าให้สังคมทราบเป็นระยะๆ และอีก 27.84% คือ ควรกำหนดกรอบกติกาในการเจรจาหรือประเด็นที่จะพูดคุยให้ชัดเจน พร้อมรับฟังความต้องการทั้ง 2 ฝ่าย
ทั้งนี้ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สอบถามความคิดเห็นดังกล่าวจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,404 คน ระหว่างวันที่ 6-8 มีนาคม 2557