ทั้งนี้ ระบบกลไกในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นของไทยมีหลายแห่ง แต่ยังขาดคุณภาพและมีจุดอ่อน ทำให้การทุจริตยังคงมีอยู่ ส่วนการเปิดเผยข้อมูลในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ยังมีไม่เพียงพอ เช่น โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งตรงข้ามกับต่างประเทศ ที่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะให้แก่ประชาชนรับทราบอย่างชัดเจน อีกทั้งไทยยังมีการติดสินบนเล็กๆ น้อยๆ ในกรณีของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะไม่ช่วยให้สามารถแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้
น.ส.เดือนเด่น ยังตั้งข้อสังเกตต่อรัฐธรรมนูญปี 50 ว่า ออกแบบการตั้งองค์กรอิสระเพื่อการตรวจสอบจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมา กลับไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าว จึงเสนอให้มีการปฏิรูปการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะแทนการจำกัดด้วยเงื่อนไขข้อมูลราชการ พร้อมยกตัวอย่างกรณีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งรัฐบาลควรเปิดเผยข้อมูลการบริหารสต็อก ราคา ผู้ซื้อข้าวในสต็อก เป็นต้น
ด้าน น.ส.บุญวรา สุมะโน นักวิชาการประจำสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ได้รวบรวมงานวิจัยและดัชนีประเมินสถานการณ์คอรัปชั่นไทยในมุมมองของนักธุรกิจต่างชาติ ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาหลักสำคัญในไทย และเป็นอุปสรรคสำคัญในการประกอบธุรกิจ โดยต่างชาติมองการทุจริตคอร์รัปชั่นของไทยรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 53 จนกระทั่งไทยได้รับการจัดลำดับที่ต่ำกว่าประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งในปี 56 การคอร์รัปชั่นของไทยอยู่ที่ระดับ 86.7 เพิ่มขึ้นจากปี 55 ที่ระดับ 83.2 และปี 54 ที่ระดับ 81.8
ทั้งนี้ ปัญหาคอร์รัปชั่นส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาของพรรคการเมือง โดยเฉพาะการบริหารจัดการของภาครัฐ และความต่อเนื่องของนโยบาย รวมถึงการติดสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ยังพบว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในอาเซียนยังคงเป็นไปได้ดี รองจาก บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์
อย่างไรก็ดี ในการจัดอันดับความโปร่งใสปี 56 ไทยอยู่ในอันดับ 35 ขณะที่ฟิลิปปินส์อยู่อันดับ 36 อันดับที่น้อยกว่า หมายถึง ประเทศที่มีคอร์รัปชั่นมากกว่า
"ปัญหาคอร์รัปชั่นในไทยเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มต้นทำธุรกิจในไทยมากที่สุด ดัชนีชี้วัดเกี่ยวกับธรรมาภิบาลภาครัฐ ปี 56 ไทยถูกจัดอันดับต่ำกว่าฟิลิปปินส์ โดยกลุ่มสถาบันการเมือง รัฐสภานักการเมือง และตำรวจ ถูกต่างชาติมองว่าเป็นกลุ่มที่มีการคอร์รัปชั่นมากที่สุด" น.ส.บุญวรา กล่าว