ส่วนกรณีที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีนี้นั้น นายกรัฐมนตรี ถามกลับว่า จะต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างไร เพราะได้ปฎิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งปกติที่ทุกรัฐบาลได้มีการแต่งตั้งโยกย้าย และเจอปัญหาเช่นเดียวกัน โดยได้ทำเหมือนที่รัฐบาลอื่นได้ทำมาก่อนหน้านี้ อีกทั้งเชื่อว่าหากนายถวิล กลับมารับตำแหน่งก็จะไม่มีปัญหาต่อความมั่นคง หากมีความตั้งใจปฎิบัติหน้าที่
สำหรับการพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น นายกรัฐมนตรี ย้ำว่าให้ฝ่ายความมั่นคงรายงานและเสนอความคิดเห็นมาก่อนในฐานะฝ่ายปฎิบัติงาน ซึ่งฝ่ายรัฐบาลจะคำนึงถึงภาพลักษณ์ของประเทศ เพื่อให้ภาคเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้ แต่หากคำนึงด้านนี้เพียงอย่างเดียวและยังเกิดเหตุรุนแรงขึ้น การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็จะทำให้เกิดผลร้ายมากกว่า ดังนั้นต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม จากการชุมนุมที่ผ่านมาในภาพรวมเศรษฐกิจได้ชะลอตัวลง โดยตัวเลขเดือนม.ค.มีการปรับตัวลดลง แต่หวังว่าทุกหน่วยงานจะช่วยกันพลิกฟื้นความเชื่อมั่น นอกจากนี้ด้านการท่องเที่ยว, การค้า, การลงทุนของบีโอไอก็ได้รับผลกระทบ ดังนั้นต้องร่วมมือกันกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างความเชื่อมั่น เพื่อใม่ให้ผลกระทบทางเศรฐกิจซบเซาไปมากกว่านี้
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันนี้ยังไม่ได้มีการรายงานผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ 5 แสนล้านบาท แต่ได้ขอให้แต่ละกระทรวงรวบรวมตัวเลขความเสียหาย และรายงานมาอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่าสถานการณ์ในขณะนี้รัฐบาลมีสิ่งใดที่จะเรียกความเชื่อมั่นให้กับประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้ตอบคำถามนี้โดยตรง แต่กล่าวเพียงว่า สื่อมวลชนก็ต้องช่วยกัน และหากไม่เชื่อมั่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วจะเชื่อมั่นในสิ่งไหน และจะกลับไปสู่ระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยหรือไม่