ทั้งนี้ ระบบกลไกในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นของไทยมีหลายแห่ง แต่ยังขาดคุณภาพและมีจุดอ่อน ทำให้การทุจริตยังคงมีอยู่ ส่วนการเปิดเผยข้อมูลในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ยังมีไม่เพียงพอ เช่น โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งตรงข้ามกับต่างประเทศ ที่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะให้แก่ประชาชนรับทราบอย่างชัดเจน อีกทั้งไทยยังมีการติดสินบนเล็กๆ น้อยๆ ในกรณีของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะไม่ช่วยให้สามารถแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้
น.ส.เดือนเด่น ยังตั้งข้อสังเกตต่อรัฐธรรมนูญปี 50 ว่า ออกแบบการตั้งองค์กรอิสระเพื่อการตรวจสอบจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมา กลับไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าว จึงเสนอให้มีการปฏิรูปการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะแทนการจำกัดด้วยเงื่อนไขข้อมูลราชการ พร้อมยกตัวอย่างกรณีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งรัฐบาลควรเปิดเผยข้อมูลการบริหารสต็อก ราคา ผู้ซื้อข้าวในสต็อก เป็นต้น
ด้าน น.ส.บุญวรา สุมะโน นักวิชาการประจำสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ได้รวบรวมงานวิจัยและดัชนีประเมินสถานการณ์คอรัปชั่นไทยในมุมมองของนักธุรกิจต่างชาติ ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาหลักสำคัญในไทย และเป็นอุปสรรคสำคัญในการประกอบธุรกิจ โดยต่างชาติมองการทุจริตคอร์รัปชั่นของไทยรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 53 จนกระทั่งไทยได้รับการจัดลำดับที่ต่ำกว่าประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งในปี 56 การคอร์รัปชั่นของไทยอยู่ที่ระดับ 86.7 เพิ่มขึ้นจากปี 55 ที่ระดับ 83.2 และปี 54 ที่ระดับ 81.8
ทั้งนี้ ปัญหาคอร์รัปชั่นส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาของพรรคการเมือง โดยเฉพาะการบริหารจัดการของภาครัฐ และความต่อเนื่องของนโยบาย รวมถึงการติดสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ยังพบว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในอาเซียนยังคงเป็นไปได้ดี รองจาก บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์
อย่างไรก็ดี ในการจัดอันดับความโปร่งใสปี 56 ไทยอยู่ในอันดับ 35 ขณะที่ฟิลิปปินส์อยู่อันดับ 36 อันดับที่น้อยกว่า หมายถึง ประเทศที่มีคอร์รัปชั่นมากกว่า
"ปัญหาคอร์รัปชั่นในไทยเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มต้นทำธุรกิจในไทยมากที่สุด ดัชนีชี้วัดเกี่ยวกับธรรมาภิบาลภาครัฐ ปี 56 ไทยถูกจัดอันดับต่ำกว่าฟิลิปปินส์ โดยกลุ่มสถาบันการเมือง รัฐสภานักการเมือง และตำรวจ ถูกต่างชาติมองว่าเป็นกลุ่มที่มีการคอร์รัปชั่นมากที่สุด" น.ส.บุญวรา กล่าว
ด้านนางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ผลวิจัยดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการสูงขึ้นเฉลี่ย 30% ของต้นทุนทั้งหมด ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ประกอบการลดลง เกิดความไม่เชื่อมั่นที่จะลงทุนในไทย ดังนั้น หากรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศก็ควรบรรจุการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นวาระแห่งชาติ รวมถึงสนับสนุนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นของภาคเอกชนอย่างจริงจัง และควบคุมนักการเมืองในฐานะผู้ทุจริตคอร์รัปชั่นอันดับ 1 ของประเทศให้ได้ โดยหากทำได้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
นายกิตติเดช ฉันทังกูล สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย เปิดเผยผลวิจัยที่ศึกษาการคอร์รัปชันในประเทศไทย พบว่า ปัญหาการทุจริตยังอยู่ในระดับสูงและยังคงเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยจากการสำรวจกลุ่มผู้นำภาคธุรกิจ 93% เห็นว่า ความรุนแรงของปัญหายังอยู่ในระดับสูงมาก ขณะที่ 75% ของกลุ่มผู้นำภาคธุรกิจเห็นว่า ปัญหาทุจริตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนพยายามเข้าไปมีส่วนแก้ไขปัญหา เพราะภาคเอกชนมีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาโดยผู้นำภาคธุรกิจเข้าใจถึงธรรมชาติของการคอร์รัปชั่นในไทย และเห็นว่ามีผลต่อประสิทธิภาพในการแข่งขันของประเทศทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไม่ดี รวมทั้งทำลายคุณค่าที่ดีทางสังคม
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บมจ.ทุนภัทร กล่าวว่า ในฐานะภาคเอกชน มองว่าการคอร์รัปชั่นในประเทศจะสามารถขจัดสิ้นให้หมดไปได้ เนื่องจากมองว่ามีมาตรการในการขจัดคอร์รัปชั่นที่ทั่วโลกใช้ ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้ผล และมาตรการเหล่านี้จะแพร่ขยายมาสู่ประเทศไทย แต่การที่จะขจัดคอร์รัปชั่นให้ได้ผลมากที่สุดนั้น ควรจะเริ่มจากการเปลี่ยนทัศนคติว่าไม่ยอมให้ใครโกงอีกต่อไป
รวมถึงควรให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขจัดปัญหา โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการลดบทบาทอำนาจรัฐให้น้อยลง เพราะการทุจริตส่วนใหญ่มาจากภาครัฐ โดยไทยควรเอาประเทศอินเดียเป็นกรณีศึกษา เพราะหลายปีก่อนอินเดียเคยเป็นประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นสูงมาก แต่ปัจจุบันมีอัตราส่วนที่ลดลงไปเป็นอย่างมาก