เวทีปฏิรูปฯ เสนอแก้กม.ปิดช่องทางทุจริต-เปิดเผยข้อมูล-เพิ่มอำนาจตรวจสอบ

ข่าวการเมือง Wednesday March 12, 2014 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์(กปปส.) เปิดการเสวนาเวทีระดมความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย หัวข้อเรื่อง "การปฏิรูประบบตรวจสอบ ปลุกจิตสำนึกคนไทย ขจัดภัยคอร์รัปชั่น"ว่า การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นภารกิจสำคัญ เพราะปัญหานี้ระบาดอย่างรวดเร็วและรุนแรงจนทำให้ประเทศเสียหายย่อยยับ
"เราตั้งก็จะมีความหวังว่าสามารถขจัดการทุจริตคอร์รัปชันได้ผล เพื่อให้หลังมีรัฐบาลประชาชนเข้ามาจะทำงานได้ทันที"

ด้านนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตส.ว. กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การทุจริตคอร์ปชั่นพัฒนามาจากฉ้อราษฎร์บังหลวง เช่น การรีดไถ ส่วย หาค่าคอมมิชชั่น เบี้ยเลี้ยง ที่พัก ของหลวง นำไปสู่การทุจริตเชิงนโยบาย ที่มาพร้อมกับระบอบทักษิณ โดยเฉพาะหน่วยงานในกระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ จากการคอร์รัปชั่น ในระดับเจ้าหน้าที่รีดไถ พัฒนามาเป็นนักการเมือง, ข้าราชการ และ พ่อค้านักธุรกิจ ที่มีส่วนร่วมทำให้เกิดการทุจริตภายใต้ระบบอุปถัมภ์

"จะต้องปฏิรูปข้อมูลข่าวสารแต่ละโครงการของรัฐ ที่จะต้องเปิดเผย รวมถึงข้อมูลเจาะลึกที่เกี่ยวกับนักการเมือง ต้องมีระบบตรวจสอบ ที่เป็นองค์กร ตรวจสอบเฉพาะ ต้องมีบทลงโทษ เร็ว แรง และหนัก..ที่ผ่านมามีการบิดเบือนนโยบาย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ประเทศเสียโอกาสในการพัฒนา สูญเสียศักยภาพในการพัฒนา ทำให้ประเทศเสียหายดูได้จากในสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทั้งโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน หรือร่างพรบ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ทำให้เกิดความเสียโอกาสของประเทศ หรือเรื่องจำนำข้าวที่ชัดเจนมาก ทำให้ตลาดข้าวไทยที่ส่งออกเป็นอันดับ 1 พังทลายหมด ซึ่งทั้งหมด อยู่ที่องค์ความรู้และการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ"นายเจิมศักดิ์ กล่าว

ด้านนายคมสัน โพธิ์คง อ.นิติศาสตร์ สุโขทัยธรรมาธิราช ตัวแทนจากกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ไทยเป็นสังคมอุดมปัญหา มีการติดสินบน เล็กน้อยตั้งแต่ในครอบครัว การตั้งด่านของตำรวจ มีจำนวนด่านมาก และความถี่สูง ทำให้ถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ทั้งหมดนี้จะเป็นปัญหาต่อวิธีคิด

สำหรับปัญหาทุจริตของประเทศ ที่มีรากฐานมาจากระบบการเมือง เพราะเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจ ในทางวิชาการเรียกว่า "ระบบเผด็จการรัฐสภาโดยพรรคการเมืองนายทุน" มีผลผูกพันทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ พรรคการเมืองจะเป็นทุนจากท้องถิ่นที่หากินกับการรับเหมารับโครงก่อสร้างของรัฐ และแชร์โครงการก่อสร้างตามสัดส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล ไปตามโควต้า จังหวัดต่างๆ ถือเปลี่ยนการแปลงขนาดใหญ่ โดยอ้างระบอบประชาธิปไตย เป็นเสื้อคลุม ถือเป็นระบอบที่ทำลายสังคมอย่างรุนแรง

ดังนั้น ควรแก้ไขกฎหมายที่อาจจะเป็นช่องทางทุจริตทางนโยบาย เช่น พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม สัญญาสัมปทานต่าง ๆ หรือ พระราชบัญญัติประกอบธุรกิจคนต่าติงด้าว ที่ล้วนเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนที่หวังประโยชน์ ขณะที่กฎหมายที่เกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ก็ควรจะมีการแก้ไข โดยเฉพาะที่มีการปรับงบประมาณท้องถิ่น ที่มีการปรับไปเป็นการใช้งบเฉพาะกิจ ซึ่งจะหมายถึงงบประมาณที่ส.ส.เอาไปใช้ และทำให้ อปท. ต้องมีข้อตกลงเรื่องการแบ่งเปอร์เซ็นต์กันในท้องถิ่น แลกเปลี่ยนกับโครงการของส.ส.ที่เสนอผ่านพรรคและรัฐสภา

ขณะที่ปัญหาที่ตามมา คือ ระบบการตรวจสอบขององค์กรตรวจสอบทั้งหลาย ขณะนี้เกิดปัญหา ไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อระบบการลงโทษ ทั้งการสอบวินัยข้าราชการ ยิ่งส่งผลให้ปัญหาคอร์รัปชั่นรุนแรงขึ้น ในระบบอุปถัมภ์แบบนี้ ยิ่งทำให้ประสิทธิภาพการเข้าไปมีส่วนร่วม จะไม่ค่อยเกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่การแก้ไข นอกจากนั้นภาคเอกชนก็เป็นส่วนหนึ่ง ในการเสริมสร้าง ให้เกิดปัญหาคอร์รัปชั่นด้วยเช่นกัน

ส่วนนายภิญโญ ทองชัย อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) เสนอว่า เราจะต้องทำลายโครงสร้างการทุจริตอย่างไร ทางแก้ปัญหาคือ เพิ่มอำนาจภาคประชาชน และภาคสังคมให้มีอำนาจตรวจสอบมากขึ้น หรือการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ที่พบว่ามีตัวเลขของกลุ่มที่ทุจริต ปีหนึ่ง ประมาณ 70,000 -100,000 ล้านบาท ดังนั้นเราจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของภาคประชาชน หากมีความเข้มแข็ง จะช่วยตรวจสอบได้มาก รวมถึงการแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจการเข้าถึงของภาคประชาชนเพื่อให้มีอำนาจตรวจสอบ หรือ เข้าไปเป็นคณะกรรมการในรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ เพื่อมีอำนาจยับยั้งได้

ขณะเดียวกัน ยังเสนอเรื่องของมาตราการต่อความโปร่งใส โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารของข้าราชการทุกระดับ จะต้องให้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สามารถเรียกดู และตรวจสอบได้ทุกระดับ ห้ามบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรม หรือฝ่ายการเมือง เข้าไปเป็นบอร์ดในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ

สำหรับมาตรการป้องกัน ในเรื่องที่มีความเสี่ยง เช่น การแต่งตั้งโยกย้าย, การอนุมัติ อนุญาต ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ให้ถูกต้อง รวมถึงการใช้เทคโนโลยีมาใช้แทนคน เพื่อลดการใช้ดุลพินิจ

ส่วนการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาทำได้ไม่มาก เช่น การจัดตั้งศาลพิเศษคดีคอร์รัปชั่น หรือความล่าช้าในกระบวนการนำคนมาลงโทษ คดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตต้องไม่มีอายุความ เสนอให้ประชาชนมีอำนาจฟ้องร้องได้ต้องกำหนดว่าเป็นคดีไหน หรือเรื่องการตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต แม้ว่าจำเลยจะหลบหนี รวมถึงให้พิจารณาคดีต่อเนื่อง ไม่ใช่นัดทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน เหมือนปัจจุบัน ขณะเดียวกันต้องเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ เช่น การเรียกพยานเอกสาร หลักฐาน ให้อำนาจสืบสวนวิธีพิเศษ คือ การพรางตัวและการดักฟังทางโทรศัพท์ เป็นต้น

ส่วนนายมานะ นิติมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เสนอว่า สิ่งที่ปฏิบัติได้และเกิดขึ้นจริง ต้องรีบทำ โดยเฉพาะในจังหวะนี้ ที่นักการเมืองยังไม่เข้าสู่อำนาจ ยังช่วงชิงอยู่ จะต้องทำกันได้ให้เร็วที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ