"บัดนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ขาดคดีนี้แล้ว ผมจึงสามารถแจ้งผู้อ่าน ข้อมูลที่ผมนำเสนอต่อศาลในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ ผมมีความเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลต่อไปนี้
1. ไม่ว่าโครงการลงทุนใดจะเหมาะสมอย่างไรก็ตาม แต่หากวิธีการกู้เงิน วิธีการเบิกใช้ และการกำกับควบคุม ไม่ถูกต้องหละหลวม และไม่ยึดหลักวินัยการเงินการคลัง ผลโดยรวมก็จะเป็นโทษแก่ประเทศ ดังเกิดขึ้นในร่างกฎหมายนี้
2. ร่างกฎหมายนี้ เปิดให้รัฐมนตรีคลังสามารถกำหนดระเบียบการเบิกจ่ายเงินกู้นี้ได้ แทนที่จะใช้ขบวนการตามระบบงบประมาณ จึงไม่มีการบังคับให้การเบิกจ่ายมีความรัดกุม
3. ร่างกฎหมายนี้กำหนดให้รัฐบาลเสนอผลการดำเนินโครงการลงทุนแก่รัฐสภา แต่เป็นการเสนอเพียงเพื่อทราบ ไม่ใช่เพื่ออนุมัติ รัฐสภาจึงไม่สามารถกำกับควบคุมการใช้เงินได้
4. เอกสารประกอบแสดงรายละเอียดโครงการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายนั้นมีเพียง 3 หน้า ไม่มีรายละเอียดที่ประชาชนจะติดตามการดำเนินการได้เช่นเดียวกับกฎหมายงบประมาณ ซึ่งแต่ละปีมีหลายพันหน้า
5. เนื่องจากเอกสารแสดงรายละเอียดโครงการแสดงตัวเลขเป็นก้อนใหญ่ๆ จึงเปิดให้รัฐบาลโยกเงินไปมา ไม่บังคับตายตัว เหมือนกับระบบงบประมาณ
6. หากเปิดให้ออกกฎหมายพิเศษเพื่อใช้เงินนอกระบบงบประมาณได้ดังนี้ ต่อไปทุกกระทรวงก็จะเสนอออกกฎหมายพิเศษกันหมด จะทำให้ระบบงบประมาณของประเทศไม่มีความหมาย ในอนาคตรัฐสภาจะไม่สามารถกำกับควบคุมการใช้เงินของรัฐบาลได้เลย"
"หากประเทศใดไม่มีระบบที่ทำให้รัฐสภากำกับควบคุมการกู้เงิน และการใช้เงินของรัฐบาล ประเทศนั้นจะไม่สามารถรักษาความเชื่อมั่นในเครดิตของประเทศไว้ได้ และในอนาคตประเทศนั้นก็จะไม่สามารถกู้เงินโดยการออกพันธบัตรขายแก่นักลงทุนได้เลย" นายธีระชัย ระบุ