ด้านนายจรัส สุวรรณมาลา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงการกระจายอำนาจนี้จะทำให้รัฐบาลระดับชาติลดบทบาทด้านการจัดบริการพื้นฐานลงไปมาก ขณะที่กระทรวง ทบวง กรมจะมีขนาดเล็กลง โดยมีงบประมาณและบุคลากรเหลือไม่เกินร้อยละ 40 ของรายจ่ายภาครัฐโดยรวม รวมถึงการเมืองระดับชาติจะปรับตัวไปเน้นนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและลงทุนโครงการขนาดใหญ่ระดับชาติ ขณะที่ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดจากการแย่งชิงหรือการผูกขาดอำนาจกับผลประโยชน์ก็จะคลี่คลายลงไปด้วย
ทั้งนี้ การที่จังหวัดจะปกครองตัวเองนั้น ต้องเกิดจากการที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)และหน่วยบริหารส่วนภูมิภาคเป็นองค์กรเดียวกัน ไม่มีภูมิภาคในระบบบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อขจัดความซ้ำซ้อนเชิงโครงสร้างและหน้าที่ก้าวข้ามข้อจำกัดการกระจายอำนาจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เสริมจุดแข็งระบบปกครองส่วนท้องถิ่น
ส่วนการปฏิบัตินั้นสามารถดำเนินการได้โดยออก พ.ร.บ.จังหวัดปกครองตนเอง ซึ่งให้แต่ละจังหวัดสามารถเดินช่องทางนี้ตามความพร้อมของพื้นที่ และจัดตั้งมีหน่วยงานที่เป็นองค์กรอิสระมาดูแลการตั้งจังหวัดปกครองตนเอง ทั้งเรื่องของแผนงาน งบประมาณ หลักเกณฑ์ และเป้าหมายการดำเนินงานที่ชัดเจน และเมื่อเกิดข้อพิพาทระหว่างจังหวัดนั้นกับรัฐบาลกลางก็จะให้ศาลปกครองเป็นผู้ชี้ขาด ไม่ให้เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรูปแบบนี้มีใช้อยู่ในประเทศฝรั่งเศส
ขณะที่นายสมพร ใช้บางยาง อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การกระจายอำนาจที่เคยพูดกันมานานแล้ว แต่สิ่งที่เป็นปัญหานี้จะเกิดเป็นรูปธรรมได้ก็อยากสะท้อนมุมมองเพื่อกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นจากที่ได้เคยทำมา โดยปัจจัยความสำเร็จคือ นโยบายต้องชัดเจน รัฐบาลต้องมีนโยบายการกระจายอำนาจฃ ส่วนองค์กรที่มาขับเคลื่อนน่าจะมีองค์กรพิเศษ เช่น สภาองค์กรปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ บริหารโดยท้องถิ่นและภาคประชาชน หรือผู้ทรงคุณวุฒิหรืออาจจะมีหน่วยงานราชการ