สำหรับกรอบเนื้อหาเจรจามี 4 ประเด็นประกอบด้วย 1.ท่าทีต่อการเลือกตั้งในฐานะทางออกของประเทศ ในประเด็นว่าจะเดินหน้าเลือกตั้งหรือปฏิรูปการเลือกตั้ง หรือจะมีข้อเสนอใหม่ที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย 2.พันธสัญญาในประเด็นปฎิรูปประเทศที่จะทำก่อนการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง ในประเด็นว่า ก่อนเลือกตั้งต้องปฏิรูปอะไร หลังเลือกตั้งจะปฏิรูปอะไร และมีหลักประกํนอะไรที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ 3.รูปแบบของรัฐบาลรักษาการที่เป็นกลางและเป็นที่เชื่อถือ ในประเด็นว่ารัฐบาลปัจจุบันควรรักษาการจนวันเลือกตั้ง หรือจะมีข้อเสนออื่นเพื่อให้มีรัฐบาลที่เป็นกลางและเป็นที่ยอมรับโดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และ 4.การยุติความรุนแรง และพฤติกรรมทำร้ายประเทศ ในประเด็นว่าจะมีวิธีการอย่างไรเพื่อยุติความรุนแรง และพฤติกรรมการทำร้ายประเทศโดยแต่ละฝ่ายมีข้อเสนอต่ออีกฝ่ายและแนวทางของฝ่ายตนเอง
ส่วนโรดแมพการเจรจา 6 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1. การประกาศต่อสาธารณะและให้สังคมมีส่วนร่วมในการส่งเสริม กดดันให้เกิดการเจรจา 2.การเดินสายเพื่อรับฟังแนวคำตอบของแต่ละฝ่าย 3. การสังเคราะห์ข้อเสนอทั้งสองฝ่ายและสร้างข้อเสนอใหม่ที่เป็นกลาง และคาดว่าทั้งสองฝ่ายน่าจะยอมรับได้
4. การประสานและเจรจาทางลับเพื่อปรับข้อเสนอของทั้งสองฝ่ายให้เข้าใกล้กันมากที่สุด 5. การประชุมอย่างเป็นทางการระหว่างผู้มีอำนาจสูงสุดของทั้งสองฝ่ายเพื่อสร้างข้อยุติที่ยอมรับได้โดยมี 6 องค์กรตามรัฐธรรมนูญทำหน้าที่คนกลางในการประชุม และ 6. การร่วมแถลงผลการเจรจาต่อสาธารณะ ซึ่งทั้งหมดจะมีการแถลงรายละเอียดในวันพรุ่งนี้(18 มี.ค.) โดยจะมีการแถลงถึงความห่วงใยขององค์กรตามรัฐธรรมนูญต่อสถานการณ์ปัจจุบันและความจำเป็นในการเจรจาหาทางออกด้วย