คดีนี้ กกต.ซึ่งเป็นผู้ร้องอ้างว่า ตามที่ พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 2 ก.พ.57 โดยผู้ร้องได้กำหนดช่วงเวลาที่รับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่ปรากฎว่าช่วงระยะเวลาที่กำหนดได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมสถานที่รับสมัครเลือกตั้ง เป็นผลให้ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือไม่สามารถจัดให้มีการรับสมัครรับเลือกตั้งได้ในจำนวน 28 เขตเลือกตั้ง โดยผู้ร้องเห็นว่าไม่มีบทบัญญัติมาตราใดให้อำนาจผู้ร้องในการประกาศกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งขึ้นใหม่หรือกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติม จึงมีมติขอให้นายกรัฐมนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ เพื่อให้มีการตรา พ.ร.ฎ.โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ประกอบมาตรา 93
ต่อมานายกรัฐมนตรีได้ใหนังสือแจ้งให้ประธาน กกต.ทราบว่า ได้ส่งเรื่องและความเห็นของผู้ร้องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว ซึ่งมีความเห็นแตกต่างกับความเห็นของผู้ร้องว่า การดำเนินการตรา พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้ง กำหนดให้ผู้ร้องมีอำนาจในการกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติม กำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ รวมทั้งการประกาศงดเว้นการจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งและนอกราชอาณาจักรนั้นไม่สามารถกระทำได้ แต่เป็นอำนาจของผู้ร้องที่สามารถกระทำได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550
ต่อมาผู้ร้องได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณาและยืนยันความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อที่ผู้ร้องจะได้เสนอให้ศาลรัฐธรรมนนูญพิจารณาวินิจฉัยต่อไป และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า ครม.ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวและมีมติรับทราบคำชี้แจงดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องเห็นว่ากรณีดังที่กล่าวมาข้างต้นเป็นกรณีที่เกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่าง กกต.กับ ครม. อันเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป