"มีตั้ง 3 ทาง เลือกตั้งต่อไป เลือกตั้งใหม่ และใช้มาตรา 7 ก็ดูไปว่าจะสู้กับอีหรอบไหน ก็สู้กันต่อไปแน่นอน" นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.57 ไม่เป็นโมฆะ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ก็คงต้องเดินหน้าจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ในพื้นที่ 28 เขตทางภาคใต้ต่อไป และกลายเป็นประเด็นไปสู่การนำรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ตามแนวทางของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าออกนอกวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็นโมฆะก็กลับไปเริ่มต้นใหม่ ตั้งแต่การออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ซึ่งก็ต้องดูว่ารอบนี้พรรคประชาธิปัตย์จะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่
ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี กล่าวว่า หากเดินหน้าเลือกตั้งต่อไปพรรคเพื่อไทยจะมีโอกาสได้เสียงข้างมากในสภา ซึ่งคงต้องมีข้อเรียกร้องไม่ให้มีการผูกขาดอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติหลังเลือกตั้งเพราะสถานการณ์ไม่ปกติ โดยก่อนหน้านี้แกนนำพรรคเพื่อไทยบางคนเคยออกมาแสดงความเห็นที่จะให้มีรัฐบาลชั่วคราว แล้วเดินหน้าปฏิรูปก่อนยุบสภาเลือกตั้งใหม่
"แนวทางนี้ทุกฝ่ายคงต้องคุยกันว่าทำอย่างไรจะแบ่งปันอำนาจได้ลงตัว" นายโคทม กล่าว
ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี กล่าวว่า สาเหตุที่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองยังคงอยู่ เพราะต่างฝ่ายต่างมีเป้าหมาย เพราะ กปปส.รอให้เงื่อนไขเข้ามาตรา 7 ขณะที่รัฐบาลรอให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งคงไม่มีฝ่ายใดที่มีชัยชนะอย่างเด็ดขาด
โดยวันพรุ่งนี้(21 มี.ค.57) ศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจาและลงมติคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.57 เป็นโมฆะหรือไม่ ในเวลา 11.00 น.