ทั้งนี้ นายนิคม ถูกกล่าวหาใน 4 ประเด็นด้วยกัน ประกอบด้วย กรณี นายนิคม ได้ร่วมลงชื่อในญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ (1) ซึ่งเสนอโดย นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกวุฒิสภา และคณะ และฉบับที่ (2) ซึ่งเสนอโดย นายประสิทธิ์ โพธสุธน สมาชิกวุฒิสภา และคณะเป็นผู้เสนอ
กรณีนายนิคม ซึ่งเป็นประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่รองประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้จัดให้มีการลงมติเพื่อวินิจฉัยตัดสิทธิสมาชิก ผู้แปรญัตติ ผู้สงวนคำแปรญัตติ และผู้สงวนความเห็น จำนวน 57 คน โดยอ้างเหตุว่าคำแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภาขัดต่อหลักการ
กรณีรวบรัดให้มีการลงมติปิดอภิปราย ทั้งที่มีผู้แปรญัตติ ผู้สงวนคำแปรญัตติ และผู้สงวนความเห็น ที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิ์อภิปรายจำนวนมาก ในมาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 11/1 และมาตรา 12 โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของสมาชิก
และกรณีนายนิคม ให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภาหลายครั้ง โดยแสดงความเห็นในเชิงลบต่อกระบวนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาว่าไม่ตรงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ
ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติเอกฉันท์ว่าการกระทำของนายนิคม สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ผู้ทำหน้าที่ประธานในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา(สมัยสามัญทั่วไป) ได้รับญัตติให้ปิดอภิปรายทั้งที่มีผู้ขอแปรญัตติ ผู้สงวนคำแปรญัตติ และผู้สงวนความเห็นรออภิปรายอยู่ จึงเป็นการตัดสิทธิผู้ขอแปรญัตติ ผู้สงวนคำแปรญัตติ และผู้สงวนความเห็น โดยได้ใช้เสียงข้างมากในที่ประชุมปิดการอภิปราย
ดังนั้นการกระทำของนายนิคม จึงมีมูลความผิดฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ อันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง
"การกระทำของนายนิคม ไวยรัชพานิช สมาชิกวุฒิสภา จึงมีมูลความผิดฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 291 อันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 270 และมาตรา 274 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 56 มาตรา 58 มาตรา 61 และมาตรา 62 เห็นควรให้ประธาน ป.ป.ช. ส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามมาตรา 273 และมาตรา 274 ต่อไป" นายประสาท กล่าว
ส่วนข้อกล่าวหาอื่นไม่มีมูลความผิด ให้ข้อกล่าวหาเป็นอันตกไป
นายประสาท กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้นายนิคม จะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ซึ่งทางป.ป.ช.จะส่งเรื่องให้ทางประธานวุฒิสภาดำเนินการต่อไป ส่วนใครจะทำหน้าที่ประธานนั้น ถือเป็นขั้นตอนทางธุรการของวุฒิสภาจะเป็นผู้พิจารณา
สำหรับกรณีของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นั้นที่ประชุม ป.ป.ช.วันนี้ ยังไม่มีมติชี้มูลความผิด เนื่องจากเป็นประเด็นที่ไม่สอดคล้องและตรงกับกรณีนายนิคม ทำให้ต้องพิจารณาพยานหลักฐานมากกว่า
นายประสาท กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้นายนิคม จะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ซึ่งทางป.ป.ช.จะส่งเรื่องให้ทางประธานวุฒิสภาดำเนินการต่อไป ส่วนใครจะทำหน้าที่ประธานนั้น ถือเป็นขั้นตอนทางธุรการของวุฒิสภาจะเป็นผู้พิจารณา
ส่วนกรณีของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ที่ ป.ป.ช.ยังไม่สามารถชี้มูลได้ในวันนี้ เนื่องจากกรณีของนายสมศักดิ์ มีพยานบุคคลและพยานหลักฐานมากกว่ากรณีของนายนิคม ตั้งแต่กระบวนการรับร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการเสนอร่างเข้าสู่ที่ประชุมสภา ซึ่งต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเพิ่มเติม แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะสามารถชี้มูลได้ภายในสัปดาห์หน้าหรือไม่ แต่จะพยายามรวบรวมให้รวดเร็ว
"กระบวนการมีมากกว่านายนิคม ทั้งพยานบุคคลและพยานหลักฐาน จะมาลวกๆ ง่ายๆ ไม่ได้"นายประสาท กล่าว