แต่ในส่วนกระบวนการของวุฒิสภาที่จะพิจารณาถอดถอนนายนิคมนั้น จำเป็นต้องรอสำนวนที่จะส่งมาจาก ป.ป.ช.ก่อน ทั้งนี้กระบวนการถอดถอนคงไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้ชัดเจน เพราะกฎหมายให้สิทธิผู้ถูกถอดถอนสามารถยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานในขั้นตอนการไต่สวนของวุฒิสภาได้
"ถ้าอย่างเร็วสุดคงไม่เกิน 45 วันนับแต่วันที่วุฒิสภาได้รับสำนวน...แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่านายนิคม จะยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมหรือไม่ โดยเฉพาะพยานบุคคล ถ้าขอเพิ่มมาก ก็ต้องใช้เวลาไต่สวนมาก" รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ในฐานะรักษาการประธานวุฒิสภา กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์
นายสุรชัย กล่าวว่า ภายในเวลา 40-45 วันนับจากวันที่วุฒิสภาได้รับสำนวนจาก ป.ป.ช.แล้ว จะต้องเริ่มต้นประชุมนัดแรกภายในไม่เกิน 20 วัน ซึ่งเหตุที่กฎหมายกำหนดว่าต้องเร็ว เพราะการถอดถอนมีผลกระทบกับตำแหน่งหน้าที่การงานของผู้ที่ถูกยื่นถอดถอน ดังนั้นถ้าล่าช้าออกไปจะทำให้ผู้ที่ถูกยื่นถอดถอนต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นานเกินไป ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่กฎหมายต้องเร่งให้ดำเนินการโดยเร็วเพื่อพิสูจน์ว่าถ้านายนิคมไม่ผิด จะได้คืนตำแหน่งให้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ดี ช่วงบ่ายนี้นายสุรชัย ได้นัดหมายข้าราชการตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการถอดถอนนายนิคม มาประชุมเพื่อเตรียมการในเรื่องดังกล่าวกันก่อน
สำหรับการพิจารณาถอดถอนนายนิคม จำเป็นจะต้องรอให้มี ส.ว.เลือกตั้งชุดใหม่เข้ามาก่อนหรือไม่นั้น นายสุรชัย กล่าวว่า จะมีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นหารือในการประชุมเตรียมการช่วงบ่ายนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากต้องพิจารณาความเหมาะสมของสถานการณ์ด้วยว่า จากที่กฎหมายกำหนดว่า กระบวนการถอดถอนจะต้องมีการนัดประชุมวุฒิสภาครั้งแรกภายใน 20 วันนับแต่ได้รับสำนวนจาก ป.ป.ช.นั้น จะสามารถดำเนินการได้ทันหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้มีปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้เข้ามา กล่าวคือ จะมีการเลือกตั้ง ส.ว.ชุดใหม่ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จะสามารถประกาศรับรองผลได้ภายในกี่วันที่จะทำให้มี ส.ว.เลือกตั้งชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนชุดเดิมได้
"กฎหมายนัดประชุมครั้งแรกใน 20 วัน เราต้องดูก่อนว่าถ้ารอ มันจะเกิน 20 วันหรือไม่ และเราไม่ทราบว่าหลังวันที่ 30 มี.ค.ที่มีการเลือกตั้ง ส.ว.แล้วนั้น กกต.จะสามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้งได้ภายในกี่วัน ที่จะทำให้มีส.ว.ชุดใหม่มาประชุมได้ นี่คือปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้" นายสุรชัย กล่าว
พร้อมระบุว่า นอกจากนี้จะต้องพิจารณาไปถึงกระบวนการของ กกต.ในการประกาศรับรองรายชื่อ ส.ว.เลือกตั้ง ซึ่งหากเกิดกรณีการร้องคัดค้านเข้ามาอีก ก็จำเป็นต้องใช้เวลาในการทำสำนวนไต่สวนและวินิจฉัยข้อเท็จจริงอีก แต่หาก กกต.ประกาศรับรองรายชื่อไปก่อน แล้วจะไปสอยทีหลังนั้น กรณีนี้ก็เป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งที่จะทำหน้าที่วินิจฉัยในท้ายสุด ซึ่งขั้นตอนนี้กฎหมายให้เวลาอีกไม่เกิน 1 ปี ดังนั้นก็อาจมีความเป็นไปได้ที่กระบวนการถอดถอนนายนิคม จะเกิดขึ้นได้ในช่วงที่มี ส.ว.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แล้ว
อย่างไรก็ดี สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะยึดแนวทางปฏิบัติว่า การที่ ส.ว.เลือกตั้งชุดเดิมจะพ้นจากหน้าที่โดยสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อ กกต.ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ว.ชุดใหม่ครบ 95% (รวมส.ว.สรรหาแล้ว) และสามารถเปิดประชุมวุฒิสภาได้ ซึ่ง ณ วันนั้น ส.ว.เลือกตั้งชุดเดิมจึงจะพ้นหน้าที่โดยสมบูรณ์
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงการทำหน้าที่ทูลเกล้าฯ เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้นว่าจะสามารถเป็นอำนาจหน้าที่ของรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่รักษาการแทนประธานวุฒิสภา และทำหน้าที่รักษาการประธานรัฐสภาได้หรือไม่นั้น นายสุรชัย กล่าวว่า กรณีนี้คงต้องไปพิจาณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดรอบคอบก่อน เนื่องจากยังมีความเห็นต่อกรณีนี้เป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายแรกเห็นว่า เนื่องจากกฎหมายใช้คำว่า "ทำหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา" ดังนั้นจึงหมายถึงต้องทำหน้าที่แทนได้ทุกเรื่อง ไม่เช่นนั้นจะเกิดสูญญากาศ แล้วกลไกวุฒิสภา รัฐสภาจะเดินหน้าได้ไม่เต็มที ขณะที่อีกฝ่ายกลับมองว่า คำว่า"ทำหน้าที่แทน" เป็นเพียงการทำหน้าที่แค่ในกรอบอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาเท่านั้น โดยไม่สามารถไปแตะถึงรัฐสภาได้
"เราต้องศึกษาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้ละเอียด นี่เป็นประเด็นที่จะต้องหารือกันให้รอบคอบ แต่ยืนยันว่าเราจะกำหนดแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองให้มากที่สุด" นายสุรชัย กล่าว
พร้อมระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องทูลเกล้าฯ เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพราะน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี และยังยืนยันว่าจะขออยู่ปฏิบัติหน้าที่จนวันสุดท้าย
อย่างไรก็ดี นายสุรชัย ยอมรับว่ามีความหนักใจต่อการทำงานในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยหนักใจว่าจะทำอย่างไรให้เป็นที่ถูกใจทุกฝ่าย และทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย และการมุ่งไปสู่เป้าหมายนี้จะมีวิธีการนุ่มนวลได้อย่างไร