ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก สรุปว่า การที่ พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 2 ก.พ.57 นั้น เมื่อได้ดำเนินการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ.57 ไปแล้ว ปรากฎว่ายังไม่มีการจัดการเลือกตั้งสำหรับ 28 เขตเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่เคยมีการสมัครรับเลือกตั้งมาก่อนเลย จึงถือได้ว่าในวันที่ 2 ก.พ.57 มิได้มีการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
ส่วนการที่จะดำเนินการจัดการเลือกตั้งสำหรับ 28 เขตเลือกตั้ง หลังวันที่ 2 ก.พ.นั้นก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะจะมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน เป็นผลให้ พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 2 ก.พ.57 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง
สำหรับคำร้องนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินในฐานะผู้ร้อง ได้รับหนังสือร้องเรียนจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เห็นว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จึงเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 245(1) ว่าการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2 ก.พ.57 ตาม พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
ขณะที่อีกคำร้องนั้นในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 214 เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะรัฐมนตรีในการดำเนินการรับสมัครเลือกตั้งใหม่ในการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปนั้น กกต.อ้างว่าในช่วงเวลาที่รับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ปรากฎว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมมาปิดล้อมสถานที่รับสมัคร เป็นผลให้ไม่มีผู้รับสมัครเลือกตั้งหรือไม่สามารถจัดให้มีการรับสมัครรับเลือกตั้งได้ใน 28 เขตเลือกตั้ง
กกต.เห็นว่าไม่มีบทบัญญัติมาตราใดให้อำนาจในการประกาศกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งขึ้นใหม่ หรือกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติม กกต.จึงขอให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อให้มีการตรา พ.ร.ฎ.โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 187 ประกอบมาตรา 93 ต่อมานายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งให้ประธาน กกต.ทราบว่า ได้ส่งเรื่องและความเห็นของ กกต.ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว ซึ่งมีความเห็นแตกต่างกับความเห็นของ กกต.ว่าการดำเนินการตรา พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้งกำหนดให้ กกต.มีอำนาจในการกำหนดวันรับสมัคร
ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องและเอกสารประกอบแล้ว เห็นว่าเมื่อมีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่า พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปวันที่ 2 ก.พ.57 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรค 2 ดังนั้นเหตุในการที่ กกต.ขอให้ศาลวินิจฉัยได้หมดไปแล้ว กรณีจึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดีท่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยประเด็นคำร้องนี้ต่อไป จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคำร้องของ กกต.
รายงานข่าว เปิดเผยว่า ตุลาการเสียงข้างน้อย 3 เสียง คือ นายชัช ชลวร, นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี และ นายเฉลิมพล เอกอุรุ ส่วนตุลาการเสียงข้างมาก 6 เสียงประกอบไปด้วย นายจรูญ อินทจาร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, นายจรัญ ภักดีธนากุล, นายนุรักษ์ มาประณีต, นายบุญส่ง กุลบุปผา, นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ