จากการเปิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 บังคับว่า " สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ของตนเองของผู้อื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ...."
และ มาตรา 268 " นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะกระทำการใดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 266 มิได้ เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ "ขณะที่มาตรา 182 ระบุว่า"ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ ... (7) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 267 มาตรา 268 หรือมาตรา 269 "
ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่าการโยกย้ายนายถวิล เข้าข่ายเป็นการกระทำอันต้องห้าม ตามมาตรา 268 เมื่อใด นายกฯยิ่งลักษณ์จะพ้นตำแหน่งไปตามมาตรา 182 (7) ทันที ไม่ต้องมีขบวนการถอดถอนอีกแล้ว และเมื่อความเป็นนายกรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลง คณะรัฐมนตรีก็จะพ้นตำแหน่งไปทั้งหมด ต้องมีการแต่ตั้งนายกและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ทันที
ขณะที่กรณีจำนำข้าว ถึงแม้ว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบกรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะชี้มูลนายกฯยิ่งลักษณ์ ก็จะยังไม่ทำให้พ้นจากตำแหน่ง เพียงแต่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น ในระหว่างนั้นรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่แทนไปพลางได้ โดยที่ความเป็นนายกรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลง ตาม 182 (8) ก็ต่อเมื่อวุฒิสภา มีมติตามมาตรา 274 ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง มาตรา 274 กำหนดให้มติถอดถอน ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา ระหว่างที่ดำเนินการขั้นตอนถอดถอน คณะรัฐมนตรียังอยู่ในตำแหน่งได้ เพราะความเป็นนายกรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่สิ้นสุด จึงเห็นได้ว่าขั้นตอนกว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงได้นั้นจะใช้เวลาและน่าจะต้องรอให้มีวุฒิสภาชุดใหม่เสียก่อนด้วย