ทั้งนี้ ถ้าพิจารณาจากแนวทางการเลือกตั้งในปี 49 ก็จะเกิดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ในวันใดวันหนึ่ง ส่วนการกำหนดระยะเวลานั้นก็ขึ้นอยู่กับกกต. เนื่องจากเป็นองค์กรที่รับผิดชอบจัดการเลือกตั้ง ส่วนรัฐบาลมีหน้าที่เพียงเป็นผู้นำเสนอพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง และนายกรัฐมนตรีอยู่ในฐานะรับสนองพระบรมราชโองการ ทั้งนี้พ.ร.ฎ.ฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้น ผู้ที่จะรักษาการตามพ.ร.ฎ.ก็จะเป็นกกต.เพียงผู้เดียวเหมือนกับลักษณะพ.ร.ฏ.ที่มีการเลือกตั้งโดยไม่ได้เกิดจากการยุบสภาฯ ในครั้งแรก
ส่วนที่มีการเสนอให้ทอดระยะเวลาการเลือกตั้งออกไปก่อน เพื่อให้สถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลงนั้น นายวราเทพ กล่าว่าไม่มีใครทราบว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงเมื่อไร เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านยังมีเงื่อนไขที่ไม่ลดแนวทางข้อเสนอ โดยเฉพาะในเรื่องของการปฏิรูป โดยเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นแนวทางที่จะเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ คือ ต้องจัดการเลือกตั้งอย่างเร็วที่สุด เพื่อที่จะได้มีรัฐบาลตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกลุ่ม กปปส.ประกาศคัดค้านการเลือกตั้ง
"รัฐบาลต้องยืนหยัดในหลักการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ต้องมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีแนวทางใดที่จะเปลี่ยนไปจากนี้ได้ คือ ต้องมีการจัดการเลือกตั้ง ถ้าไม่จัดการเลือกตั้งถือว่าเราฉีกรัฐธรรมนูญ" นายวราเทพ กล่าว
ส่วนว่ารัฐบาลจะต้องหารือกับ กกต.หรือไม่ เพื่อให้การเลือกตั้งเดินหน้าไปได้ ก่อนที่จะมี พ.ร.ฏ.กำหนดวันเลือกตั้งนั้น นายวราเทพ กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่ได้หารือกันว่าจะมีแนวทางไปพูดคุยหรือไม่ แต่โดยหลักการแล้วเป็นหน้าที่ของกกต. ดังนั้นหากได้ข้อสรุปแล้ว กกต.จะยก ร่างพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งต้องประสานมายังรัฐบาลเพื่อนำหลักการดังกล่าวเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ
"การหารือขึ้นอยู่กับกกต.จะหารือกับพรรคการเมืองก่อนหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลไม่มีปัญหาที่จะหารือร่วม เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลสนับสนุนการเลือกตั้งมาโดยตลอด เพื่อให้มีการเลือกตั้งมีรัฐบาลตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องของระยะเวลายืนยันต้องมีรัฐบาลโดยเร็วที่สุด" นายวราเทพ กล่าว
ส่วนการนำเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนกลางนั้น นายวราเทพ กล่าวว่า ต้องยุติสิ่งที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะแข็งกร้าว เอารัฐธรรมนูญมาเป็นกรอบการตัดสินใจ แต่ถ้าตัดสินใจไม่เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญก็จะส่งผลให้มีปัญหาตามมา ทั้งคัดค้านและไม่เห็นด้วย ซึ่งไม่รู้หยิบยกอะไรขึ้นมาอ้างอิงได้ แต่หากเราปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญก็สามารถชี้แจงเหตุผลได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองเจตนาการเปิดชื่อนายกฯ คนกลางในเวลานี้อย่างไร นายวราเทพ ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น โดยกล่าวแต่เพียงว่า ต้องไปถามนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช.เอง