"ตุลาการต้องเด็ดขาด ทหารต้องสามารถบอกทุกคนให้หยุดได้ ตอนนี้ที่สามารถบอกให้ทุกคนหยุดได้คือทหาร อำนาจตุลาการที่บอกได้ว่า ใครผิด ใครถูกแล้วจบกันไป แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น อำนาจบริหารและนิติบัญญัติมันหมดไปแล้ว เหลือแค่ตุลาการ และทหารเท่านั้น ตอนนี้ประเทศเริ่มแหลก เพราะไม่มีคนที่มีอำนาจและบารมีออกมาบอกให้หยุด กฎกติกาของประชาธิปไตยแหลกเหลว ไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างที่มันควรจะเป็นในประเทศที่เจริญแล้ว แต่เชื่อว่าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองคงไม่ยอมปล่อย คงอดทนหรือเตรียมแผนอะไรอยู่ก็ไม่รู้ แต่สองฝ่ายต้องเริ่มเดินหน้าปฏิรูปฯใน 3 เดือน"นายทนง กล่าว
นายทนง กล่าวต่อว่า ทั้ง 2 ฝ่ายต้องหยุด หากการเมืองไม่จบ ก็จะนองเลือด เกิดการปะทะกันอย่างแน่นอน
"ประเทศไทยไม่มีคนมีอำนาจบารมี ประชาธิปไตยตอนนี้แหลกเหลว เพราะไม่สามารถทำได้ตามที่ควรจะเป็น" นายทนง กล่าว
ขณะนี้อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ จบไปแล้ว เหลือแค่อำนาจทหาร ตุลาการ
"ตอนนี้คงต้องให้คุณทักษิณ คุยกับทหาร ซึ่งมองว่าคุณทักษิณรู้ว่าต้องจบอย่างไร"
ส่วนการถูกเสนอชื่อเป็นครม.คนกลางนั้น ตามที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ออกมาเปิดเผยรายชื่อนั้น นายทนง กล่าวว่า ไม่สนใจที่จะรับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีใหม่ โดยมองว่าเป็นการอ้างขึ้นลอยๆ และมองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ตนจะถูกเชิญให้เข้าไปร่วมรัฐบาลตามแนวทางของ กปปส.
"ไม่สนใจเลย คุณณัฐวุฒิไปเอามาจากไหน เป็นการพูดลอยๆ ผมไม่ได้อยู่ฝ่ายใคร ตอนนี้ผมเกือบจะเป็นศัตรูกับทุกฝ่าย เวลาที่รัฐบาลทำอะไรไม่ถูกผมก็เตือน พอผลออกมาเป็นแบบที่ผมเตือน เขาก็โมโห คนที่อยู่ด้วยกันก็เริ่มเป็นศัตรูกันโดยไม่จำเป็น ส่วนทางกปปส.ผมก็ไม่เคยเข้าไปยุ่ง และไม่เคยเห็นด้วยกับวิธีการรุนแรง ผมเชื่อในเรื่องที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบร่วมกันเจรจา ถ้าแบบนี้ผมก็เหมือนเป็นศัตรูของทั้ง 2 ด้าน ไม่ได้เป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง" นายทนง กล่าว
นายททนง กล่าวว่า การทำงานเพื่อประเทศชาติ จะต้องมีหลักการที่เหมาะสมทั้งกระบวนการของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ
"ถ้าถามว่าอยากทำงานเพื่อประเทศชาติมั้ย ตอบว่าอยากทำ แต่ถ้าทำไปแล้วถูกด่าโดยไม่มีประโยชน์ต่อบ้านเมืองไม่เอา แต่ถ้าถูกด่าแต่มีประโยชน์แก่บ้านเมืองก็ยังรับได้ แต่ถ้าทำแล้วเป็นศัตรูกับสองฝ่ายทำไม่ได้หรอก ทำอะไรก็ผิดไปหมด"
นายทนง กล่าวยืนยันความสัมพันธ์กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรียังดีอยู่ แม้ตนจะไม่เห็นด้วยกับบางเรื่อง เช่น พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท, โครงการรับจำนำข้าว เป็นต้น ในส่วนของ กปปส.เองนั้นตนยอมรับว่าช่วงแรกเห็นด้วยกับจุดยืนที่ดีในเรื่องการเริ่มต้นปฏิรูปประเทศ แต่หลังจากที่จุดยืนดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจจะมีความเสียหายตามมา ดังนั้นจึงถอยความคิดออกมาจากจุดนั้น
"ตอนอยู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเขาทำได้ดี สร้างมวลชน สร้างจุดยืนให้มวลชนเห็นด้วยอะไรหลายๆ อย่าง แต่ตอนหลังกลับมาสร้างจุดยืนที่ทำให้เกิดเงื่อนไขที่เจรจาไม่ได้ ผมว่ามันไม่ใช่วิสัยแบบไทยๆ มันอาจจะแตกหัก ผมเป็นห่วงตรงนี้" นายทนง กล่าว