นายกรัฐมนตรีตั้งข้อสังเกตว่า มาตรฐานของการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญให้ไต่สวนคดีโดยเร็วและยึดหลักนิติธรรมนั้นใช้กับบุคคลทุกกลุ่มในบรรดาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อยู่ในระดับบริหารด้วยกันอย่างเท่าเทียม แต่หลายเรื่องเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกกล่าวหาจะมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนก่อน ปัจจุบันแต่ละคดีไม่มีความคืบหน้า เช่น คดีสลายการชุมนุมที่ทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายในปี 53 หรือคดีทุจริตอื่นในปี 53 ก็ไม่ปรากฏว่ามีความคืบหน้าไปอย่างรวดเร็วเหมือนคดีนี้
ตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาใช้เวลาเพียง 21 วันในการจัดเตรียมข้อกล่าวหามากมายหลายประเด็นที่อ้างว่ามีการทุจริตและมีความเสียหาย หากคำนึงถึงความเป็นธรรมแล้วจำเป็นที่จะได้ใช้สิทธิตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองเพื่อตรวจสอบพยานหลักฐานเพื่อจะได้ชี้แจงได้ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาไต่สวน ทำให้สรุปได้ชัดเจนว่าการตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้ไม่ได้รับการอำนวยความยุติธรรมตามสมควร
ส่วนการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ให้เลื่อนคดีนั้น มีเหตุผลมากน้อยเพียงใด เพราะเรื่องที่ถูกกล่าวหามีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพยานเอกสารและพยานบุคคลจำนวนมากที่ต้องรวบรวม บางรายการต้องสืบค้นจากหลายหน่วยงานเพื่อหักล้างข้อกล่าวหา แต่หน่วยงานต่างๆมีระยะเวลาไม่เพียงพอ จึงแจ้งเหตุขัดข้องมาหลายหน่วยงาน ก็ได้ให้ทนายความนำไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบถึงเหตุขัดข้องเพื่อขอเลื่อนคดี 45 วัน แต่กลับถูกปฏิเสธทั้งๆที่ฝ่ายกรรมการ ป.ป.ช.อ้างว่าใช้เวลาตรวจสอบเรื่องนี้มาปีเศษ แต่คณะกรรมการ ปปช.ชุดใหญ่มีมติภายใน 21 วันเพื่อแจ้งข้อกล่าวหา
"คดีนี้เมื่อตัวดิฉันมีสถานะเป็นนายกรัฐมนตรี การถูกดำเนินคดีเป็นเรื่องที่สาธารณะชนทั่วไปควรต้องการรับรู้และถือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะที่จะรับรู้ทั้งฝ่ายดิฉัน และเหตุผลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเสมือนมิใช่คนกลางไต่สวนพิจารณาคดี หากแต่ถือเป็นคู่กรณีที่กล่าวหาดิฉันด้วยว่า ระหว่างการไต่สวนพิจารณาคดีของกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ไต่สวนกับดิฉันในฐานะผู้ถูกกล่าวหา มีการปฏิบัติต่อกันในการดำเนินคดีโดยถูกต้อง เที่ยงธรรมหรือไม่ มิใช่มีเจตนามากล่าวหาต่อกันว่าใครผิดใครถูก ซึ่งไม่ถูกต้อง และกรณีของดิฉันคงเป็นบทเรียนของการใช้อำนาจของแต่ละฝ่ายว่า เป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่"