ทั้งนี้ ผลไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งกรณีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .....ในประเด็นเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาในส่วนของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา การไต่สวนพบว่า นายสมศักดิ์ ได้นำญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับซึ่งมิใช่ฉบับเดิมของนายอุดมเดช รัตนเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะ เป็นผู้เสนอเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 ส่งสำเนาให้สมาชิกรัฐสภาเพื่อประกอบการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2556 โดยไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาลงชื่อเสนอญัตติตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อันเป็นการดำเนินการในลักษณะที่มีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริง ไม่แจ้งข้อความจริงว่าได้มีการจัดทำญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ให้สมาชิกรัฐสภาทราบทุกคน
ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2556 นายอุดมเดช รัตนเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ประสานเจ้าหน้าที่สำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม บันทึกหลักการและเหตุผล และบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ไปเปลี่ยนกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดิมและนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดิมกลับคืนไป โดยการแก้ไขดังกล่าวไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาลงชื่อเสนอญัตติตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งนายสมศักดิ์ในฐานะประธานรัฐสภา ทราบถึงการแก้ไขดังกล่าว
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ได้กำหนดเวลาแปรญัตติไม่เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2553 ข้อ 96 โดยจัดให้มีการลงมติให้กำหนดเวลาแปรญัตติ 15 วัน โดยให้เริ่มนับระยะเวลา 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นวันที่รับหลักการ เห็นว่า การแปรญัตติ เป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาที่จะเสนอความคิดเห็น การแปรญัตติจึงต้องมีเวลาพอสมควรเพื่อให้สมาชิกผู้ประสงค์จะขอแปรญัตติได้ทราบระยะเวลาที่แน่นอนในการยื่นขอแปรญัตติ อันเป็นสิทธิในการทำหน้าที่ ของสมาชิกรัฐสภาภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ การนับระยะเวลาในการแปรญัตติ ย่อมไม่อาจนับเวลาย้อนหลังได้ แต่ต้องนับตั้งแต่วันที่ที่ประชุมมีมติเป็นต้นไป การเริ่มนับระยะเวลาย้อนหลังไปจนทำให้ เหลือระยะเวลาขอแปรญัตติเพียง 1 วัน เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมและไม่เป็นกลาง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
นายวิชา กล่าวว่า ที่ประชุมฯ เห็นว่าข้อกล่าวหาที่ประธานวุฒิสภาส่งมาที่เกี่ยวข้องกับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นเรื่องสำคัญและได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว จึงให้แยกทำรายงานเฉพาะข้อกล่าวหาดังกล่าว ส่งไปให้วุฒิสภาพิจารณาก่อน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 272 ประกอบมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 และให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ส่งรายงาน และเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อดำเนินการตามมาตรา 273 และมาตรา 274 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ส่วนการดำเนินคดีอาญาขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง
"การกระทำและพฤติการณ์ของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา จึงมีมูลความผิดฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 3 มาตรา 125 วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาตรา 291 อันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 270 และมาตรา 274 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 56 มาตรา 58 มาตรา 61 และมาตรา 62" นายวิชา ระบุ