"ได้ติดตามความเป็นสองมาตรฐานในสังคมที่เกิดขึ้น หลังจากการปฏิวัติรัฐประหารในปี 49 มาอย่างใกล้ชิด หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่มีความยุติธรรมจริงดังที่สังคมสงสัย แม้ว่าท่านอาจจะมีอำนาจทำอะไรก็ได้ และอาจประสบความสำเร็จตามธงที่ตั้งไว้ในขณะนี้ แต่เชื่อว่าไม่นาน ประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงจะเป็นผู้ที่มาทวงเอาอำนาจและความยุติธรรม กลับคืนจากท่านทุกคน และถ้าหากมันเกิดขึ้นจริง คณะกรรมการป.ป.ช.คงต้องรับผิดชอบในการชดใช้ให้กับประชาชนทั้งต้นทั้งดอกอย่างแน่นอน" นายเรืองไกร กล่าว
พร้อมเชื่อว่า ผลของคำวินิจฉัยที่จะชี้มูลความผิดนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้นจะออกมาในเร็วๆ นี้ ซึ่งเชื่อได้ว่าจะสอดรับกับการเปิดประชุมวุฒิสภาเพื่อถอดถอนนายกฯต่อไปอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้เนื่องจาก ป.ป.ช.ถือว่าเป็นกระบวนการยุติธรรมกลางน้ำที่สำคัญ และมีบุคคลากรทางกฎหมายเป็นจำนวนมาก จึงอยากจะเตือนสติทุกท่านว่าอย่าบังคับใช้กฎหมายแบบศรีธนนชัยเป็นอันขาด เพราะการชี้มูลความผิดนายกฯ ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง โปร่งใส
"คณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่าขั้นตอนการดำเนินการที่เร่งรีบ ลุกลี้ลุกลน ก่อนหน้านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมต้องรีบถึงขนาดนั้น ทั้งๆ ที่เอกสารหลักฐานต่างๆก็ยังไม่สมบูรณ์ และกรรมการป.ป.ช.ทุกท่านต้องมีสำนึกของจริยธรรมในการอำนวยความยุติธรรม เพราะกรณีนี้ ถือเป็นข้อกล่าวหาต่อนายกรัฐมนตรีที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในยุคไหนก็ตาม ทั้งๆที่นโยบายจำนำผลิตผลทางการเกษตรนั้นก็เกิดขึ้นมานานแล้ว" นายเรืองไกร กล่าว
ทั้งนี้เห็นว่าการชี้มูลความผิดต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีผลให้นายกรัฐมนตรีต้องยุติการปฎิบัติหน้าที่นั้น ในกรณีนี้ ป.ป.ช.ต้องระบุให้ชัดเจนว่าคำวินิจฉัยของป.ป.ช.นั้นได้วินิจฉัยความผิดของนายกรัฐมนตรีในสถานะใด เพราะเป็นกรณีที่มีผลผูกพันตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 272 วรรค 4 กล่าวคือ "ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติด้วยเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการที่มีอยู่ว่าข้อกล่าวหาใดมีมูลนับแต่วันดังกล่าว ผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติ..."
แต่เนื่องจากสถานะปัจจุบันของนายกรัฐมนตรีได้พ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้วตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค.56 ที่มีการยุบสภา เพราะฉะนั้นนายกรัฐมนตรีจึงไม่มีหน้าที่ให้ปฏิบัติเหมือนกับสถานะของนายกรัฐมนตรีก่อนยุบสภา เพียงแต่ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 181 ของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ "คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่..." ดังนั้นหากมีการชี้มูลความผิดก็อยากจะถามว่า จะให้นายกฯ ยุติการทำงานอย่างไรแบบไหน
"ป.ป.ช.ควรต้องฟันธงมาให้ชัดเจน อย่าตัดสินแบบองค์กรอิสระอื่นๆ ที่ชอบวินิจฉัยแบบกำกวม เพราะทั้งมาตรา 272 วรรค 4 ที่บอกว่า คณะกรรมการ ปปช.หากมีมติด้วยเสียงข้างมาก ผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีมตินั้น ขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะของการเป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ขณะนี้มีความจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 และถ้าหากยุติการปฏิบัติหน้าที่ ก็อาจถูกตีความว่านายกรัฐมนตรีไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญได้ด้วยเช่นกัน" ที่ปรึกษากฎหมายพรรคเพื่อไทย ระบุ
พร้อมฝากว่า กรณีการวินิจฉัยนายกรัฐมนตรีเรื่องโครงการจำนำข้าวในครั้งนี้ อยากเห็นการวินิจฉัยที่ถูกต้อง โปร่งใส ตรงไปตรงมาและไม่กำกวมจาก ป.ป.ช. เพราะเชื่อว่านายกฯ ไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่งอยู่แล้ว หากทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายและมีกฎหมายรองรับ