สำหรับเหตุผลที่ประชาชนไปเลือกตั้ง ส.ว.ที่ผ่านมา อันดับ 1 ไปใช้สิทธิทุกครั้ง ต้องการรักษาสิทธิ กลัวถูกสวมสิทธิ อันดับ 2 อยากได้คนดีเข้ามาทำงาน อยากตัดสินใจด้วยตนเอง และอันดับ 3 อยากให้การเลือกตั้งเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่เหตุผลที่ประชาชนไม่ไปเลือกตั้ง ส.ว.ที่ผ่านมา อันดับ 1 ติดธุระ ไม่ว่าง ต้องทำงาน เดินทางไม่สะดวก อันดับ 2 เบื่อการเมือง สถานการณ์ยังไม่นิ่ง และอันดับ 3 กังวลเรื่องความปลอดภัย กลัวอันตราย
ทั้งนี้ ระหว่างการเลือกตั้ง ส.ส.กับ ส.ว. ประชาชนให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งแบบไหนมากกว่ากันนั้น พบว่า อันดับ 1 ประชาชน60.03% ให้สำคัญพอๆ กัน เพราะ ส.ส. และ ส.ว.มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เป็นตัวแทนของประชาชน ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ ฯลฯ อันดับ 2 ประชาชน 17.78% ไม่สำคัญพอๆ กัน เพราะเบื่อหน่ายการเลือกตั้ง ถึงจะเลือกใครเข้ามาก็ไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ ฯลฯ อันดับ 3 ประชาชน 13.87% ให้ความสำคัญกับส.ส.มากกว่า เพราะ เป็นปากเสียงของประชาชน มีหน้าที่พัฒนาประเทศ ใกล้ชิดกับประชาชน รู้ปัญหาในพื้นที่ ฯลฯ และอันดับ 4 ประชาชน 8.32% ให้ความสำคัญกับ ส.ว.มากกว่า เพราะ เป็นผู้ที่มีบทบาทหน้าที่และมีความสำคัญในการตรวจสอบ คานอำนาจนักการเมือง อยากได้คนดีเข้ามาทำงาน ฯลฯ
เมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ว.แล้ว ประชาชนคิดว่าการเมืองไทยจะดีขึ้นหรือไม่ อันดับ 1 ประชาชน 76.44% ตอบว่าเหมือนเดิม เพราะ ความขัดแย้งมีมานาน ยังไม่เห็นทางออกที่จะแก้ไขปัญหาได้ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ฯลฯ อันดับ 2 ประชาชน 17.30% ตอบว่าดีขึ้น เพราะ ส.ว.เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงาน ช่วยให้บ้านเมืองมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น เดินหน้าต่อไปได้ การเลือกตั้งเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ฯลฯ และอันดับ 3 ประชาชนเพียง 6.26% ตอบว่าแย่ลง เพราะ บ้านเมืองยังคงวุ่นวาย กลุ่มต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวต่อเนื่อง มีการใช้อาวุธร้ายแรง ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ไม่หวังพึ่ง ส.ว.เพียงอย่างเดียว ฯลฯ
อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,419 คน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม - 4 เมษายน 2557