อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาสถานะในขณะนี้ตนได้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 (2) แล้ว สืบเนื่องจากการยุบสภา และได้คืนอำนาจการตัดสินใจในทางการเมืองตามวิถีทางในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปัจจุบันเป็นการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 เท่านั้น ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องวินิจฉัยให้เกิดความซ้ำซ้อนกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มีอยู่แล้ว เพราะนอกจากอาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และอาจขาดหลักการความเป็นสากลในเรื่อง“หลักนิติธรรม"อาจจะกลายเครื่องมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในทางการเมืองอีกด้วย
พร้อมระบุว่า ตามหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจนั้น อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการจะต้องมีความสมดุลกัน และในปัจจุบันมีหน่วยงานและสถาบันที่ทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่แล้ว และหากทุกฝ่ายทำหน้าที่โดยยึดหลักการดังกล่าว ก็จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างราบรื่น และท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความขัดแย้งเช่นปัจจุบัน สถาบันที่มีความเกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญควรต้องตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารโดยยึดหลักการ และหน้าที่ตามขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ และที่สำคัญจะต้องไม่สร้างความแตกแยกให้กับสังคมด้วยการดำเนินการใดๆ ในลักษณะสองมาตรฐาน
"ขอให้ทุกฝ่ายทำงานโดยยึดหลักการที่ถูกต้อง เป็นธรรม และเป็นสากล เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีหลักยึด และให้ประเทศไทยสามารถตอบคำถามของสังคมโลกได้อย่างภาคภูมิ" นายกฯ ระบุ