ทั้งนี้ ตนเห็นว่าการตั้งสมมติฐานของป.ป.ช.ในกรณีดังกล่าวไม่ถูกต้อง 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การเชื่อว่ากลไกตลาดข้าวเป็นกลไกที่สมบูรณ์ ทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ควรบิดเบือนกลไกตลาดนั้น ในความเป็นจริง สินค้าข้าวไม่มีกลไกตลาดที่สมบูรณ์ ทำให้ราคาตกต่ำต่อเนื่องจนส่งผลต่อรายได้ชาวนา ถือว่าโครงการรับจำนำข้าวสร้างสมดุลของกลไกตลาด โดยราคาข้าวช่วงปี 43-50 เฉลี่ยที่ตันละ 4,200-6,200 บาท เท่านั้น
2.การเชื่อว่ามาตรการรับจำนำข้าวเป็นมาตรการประชานิยม ซึ่งรัฐบาลคิดขึ้นเพื่อเปิดช่องการทุจริตและหาเสียงนั้น ตนเห็นว่า โครงการับจำนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นการใช้ยาแรง ที่มีการยกระดับทั้งปริมาณและราคา เพื่อเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของชาวนา ไม่ใช่ความตั้งใจเพื่อการทุจริตตามที่กล่าวอ้าง
และ 3.การเชื่อว่ามาตรการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเป็นการทำธุรกิจการค้าที่เสียหาย เพราะมีแต่ขาดทุนเพียงอย่างเดียวนั้น นโยบายรับจำนำเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถระงับ ยับยั้ง หรือยกเลิกได้ เพราะเป็นโครงการที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้ในการเลือกตั้งอย่างชัดเจน และได้แถลงต่อรัฐสภาไว้แล้ว หากไม่ดำเนินการเหมือนหลอกลวงประชาชน
"ผมบอกกับ ป.ป.ช.ใน 3 ประเด็นสำคัญ ที่ว่าด้วยเรื่องการตั้งสมมติฐานในการสอบสวน ซึ่งต้องให้เป็นไปอย่างถูกต้อง หากสมมติฐานผิดก็จะทำให้ผลการพิจารณาผิดไปด้วย" นายยรรยง กล่าว
วันนี้ได้เตรียมเอกสารทั้งหมด 51 หน้า ประกอบด้วย การให้ถ้อยคำที่เป็นเอกสาร 24 หน้า และเอกสารอ้างอิงอีก 27 หน้า ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ ป.ป.ช.ได้รับความเข้าใจและมีข้อมูลที่ครบถ้วนมากขึ้น
รมช.พาณิชย์ กล่าวด้วยว่า พอใจภาพรวมในการเข้าชี้แจงต่อ ป.ป.ช.ในวันนี้ และเชื่อว่าป.ป.ช.จะมีความเข้าใจและได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ซึ่งการที่นายกรัฐมนตรีได้ขอให้ตนมาพยาน เนื่องจากต้องการให้มาชี้แจงข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับโครงการรับจำนำ ซึ่งได้ยืนยันกับ ป.ป.ช.แล้วว่า โครงการรับจำนำไม่ใช่โครงการใหม่ที่เพิ่งมาเริ่มทำในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่เป็นการปรับปรุงโครงการรับจำนำข้าวที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน 1 และได้ดำเนินการมาตลอดจนถึงปัจจุบัน เว้นช่วงเพียงแค่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
แต่ยอมรับว่า นโยบายรับจำนำในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่กำหนดราคารับจำนำที่ 15,000 บาท/ตัน เป็นการใช้ยาแรง และเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ชาวนา ส่วนที่ต้องดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีเสียงคัดค้านหรือมีข้อท้วงติงจาก ป.ป.ช.ก่อนหน้านี้นั้น นายยรรยง ชี้แจงว่า เนื่องจากนโยบายรับจำนำข้าวเป็นนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงของรัฐบาล และนโยบายส่วนใหญ่ของรัฐบาลจะเป็นโครงการเมกะโปรเจ็กท์ ซึ่งถือว่าเป็นการทำสัญญาประชาคม และหากไม่เดินหน้าในโครงการรับจำนำ จะถือว่าทำผิดสัญญาประชาคม อีกทั้งแนวนโยบายของรัฐบาลได้มีการแถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้
นายยรรยง ตั้งข้อสังเกตว่ากรณีที่ ป.ป.ช.กล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่มีการตรวจสอบทุจริตที่เกิดขึ้นนั้น ข้อมูลที่ป.ป.ช.ได้มาเป็นเพียงข้อมูลจากทางฝ่ายค้าน หรือของอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวเท่านั้น จึงอยากให้ ป.ป.ช.รอหลักฐานที่เป็นผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) หรือการชี้แจงจากกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลังโดยตรง ซึ่งเชื่อว่ารัฐมนตรีที่จะมาให้ข้อมูลอีก 2 คน น่าจะให้ข้อมูลได้อย่างครบถ้วน ทั้งนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง
ส่วนการดำเนินการขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี)นั้น นายยรรยง กล่าวว่า รัฐบาลที่ผ่านๆ มามีการการระบายข้าวให้เอกชน 100% แต่เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันมีข้าวในสต็อกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการจะขายให้กับเอกชนจึงไม่ค่อยได้รับความร่วมมือ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องขายข้าวแบบจีทูจี ซึ่งในต่างประเทศนั้นมีความต้องการซื้อขายข้าวในรูปแบบนี้มากขึ้นในหลายประเทศ จึงทำให้เป็นที่มาว่ารัฐบาลสามารถขายข้าวจีทูจีให้กับหลายๆ ประเทศได้ ทั้งจีน, อิรัก, อินโดเซีย เป็นต้น
รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า มีความพอใจกับการเข้าชี้แจงข้อมูลในโครงการรับจำนำข้าวให้ ป.ป.ช.ได้รับทราบในวันนี้
"โดยส่วนตัว พอใจมากที่ ป.ป.ช.ให้โอกาสกับรัฐบาลได้เข้ามาชี้แจง ผมคิดว่าท่านไม่คาใจแล้ว...เท่าที่รับฟังผมคิดว่า ท่าน(ป.ป.ช.) ต้องการได้รับความเข้าใจและฟังข้อมูลที่ครบถ้วน ซึ่งก็เป็นผลดีที่นายกรัฐมนตรีอ้างผม เพราะต้องการข้อมูลเชิงลึกในการรับจำนำ" นายยรรยง กล่าว
ส่วนกรณีที่ล่าสุดวันนี้ คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.มติคัดเลือก น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. แทนนายใจเด็ด พรไชยานั้น นายยรรยง กล่าวเพียงว่า ไม่ได้รู้สึกหนักใจ เพราะถือว่าทุกคนต่างต้องทำหน้าที่ของตัวเอง