ส่วนที่อ้างว่าดำเนินการตามมาตรา 182 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า "ให้นำบทบัญญัติมาตรา 91 มาใช้บังคับกับการสิ้นสุดของความเป็น รัฐมนตรีด้วย " นั้น ต้องเกิดจากกรณีที่รัฐมนตรีผู้นั้นขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 174 และต้องอยู่ในระหว่างที่มีรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎร เท่านั้น ที่สำคัญ ต้องเข้าชื่อยื่นด้วยจำนวน ส.ส. และ ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ คือ 65 คน โดยต้องยื่นต่อประธานรัฐสภา เท่านั้น
ดังนั้น ส.ว. ในปัจจุบันจึงมีสิทธิเพียงแค่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานภาพของ ส.ว. ด้วยกันเอง เท่านั้น จะไปยื่นให้วินิจฉัยสถานภาพของคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีไม่ได้เลย
ประการสำคัญที่สุด นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ได้สิ้นสภาพไปแล้วตามมาตรา 180 (2) และอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่หลังมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 181 จึงไม่สามารถทำให้นายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสภาพอีกครั้งหนึ่งได้
ดังนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องนี้ไว้วินิจฉัยก็เท่ากับว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีเจตนาที่จะลบล้างเจตนารมณ์ของมาตรา 91 มาตรา 181 และมาตรา 182 วรรคสาม ซึ่งเท่ากับเป็นการขยายเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนี้ถือว่าร้ายแรงที่สุด เพราะมีเป้าหมายเพื่อล้มล้างคณะรัฐมนตรีทั้งคณะเพื่อให้เกิดสุญญากาศอันจะเปิดทางให้เลขาธิการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตรย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) มาสวมรอยเป็นรัฎฐาธิปัตย์ตามที่ประกาศไว้นั่นเอง