ปชป.ชี้กรณีศอ.รส.เรียกถกปลัดกระทรวงหวังเขียนเสือให้วัวกลัว,การเมืองเม.ย.มีแนวโน้มรุนแรง

ข่าวการเมือง Wednesday April 16, 2014 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)กล่าวถึงกรณีที่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) เตรียมปลัดทุกกระทรวงมาร่วมประชุมในวันพรุ่งนี้(17 เม.ย.) เพื่อชี้แจงถึงบทบาท การทำหน้าที่ และการวางตัวของข้าราชการต่อสถานการณ์การชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ว่า รัฐบาลไม่ต้องการให้ข้าราชการให้การต้อนรับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ที่เดินสายพบปะกับปลัดกระทรวงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นอย่างดี เพราะรัฐบาลเกรงว่าหากปล่อยให้ กปปส.พบปะข้าราชการต่อเนื่องไปอาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลได้ จึงเสนอแนวทางเลือกให้กับปลัดกระทรวง 3 ทาง คือ 1.ปฎิเสธการเข้าร่วมประชุม 2.หากเข้าร่วมก็ไม่ควรแสดงความเห็นใดๆ และ 3.ไม่ปฎิบัติตามคำสั่งที่เป็นผลการประชุม
"การเรียกประชุมเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เป็นความพยายามเขียนเสือให้วัวกลัว เป็นพยายามไม่ให้ข้าราชการต้อนรับ กปปส." นายองอาจ กล่าว

นายองอาจ กล่าวว่า การเชิญปลัดกระทรวงเข้าไปหารือในวันพรุ่งนี้จะไม่ส่งผลกระทบอะไรมากนัก เพราะบุคคลที่ดำรงตำแหน่งระดับปลัดกระทรวงมีวุฒิภาวะ วางตัวได้เหมาะสม ซึ่งข้าราชการที่ดีต้องอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และเชื่อว่า ปลัดกระทรวงจะยืนอยู่บนความถูกต้อง ไม่ตกเป็นทาสหรือความฉ้อฉล ขณะเดียวกันหากปลัดกระทรวงไม่เข้าร่วมประชุมกับ ศอ.รส.ในวันพรุ่งนี้ก็ไม่น่าจะมีความผิด เพราะการเชิญหารือของรัฐบาลุถือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบธรรมและต้องการแสดงตนให้ข้าราชการอยู่ในอาณัติของรัฐบาลมากกว่า และข้าราชการควรปฎิเสธคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

จากการประเมินสถานการณ์ทางการเมืองในเดือนเมษายนนี้ มีแนวโน้มจะมีการใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น จนอาจจะกลายเป็นเมษาฯเดือด โดยเฉพาะช่วงหลังสงกรานต์ เพราะมีการแสดงพลังการชุมนุมของหลายกลุ่ม ต่อกรณีที่ศาลรัฐธรรมเตรียมวินิจฉัยสถานะนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนสี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติโดยมิชอบ รวมถึงกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธ์ ประธาน นปช.ประกาศจะระดมมวลชนเข้ามาชุมนุมทันทีหากมีคำตัดสินออกมานั้น ทางพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถไว้วางใจได้ว่าจะไม่เกิดความรุนแรงเกิดขึ้นอีก เพราะเคยมีตัวอย่างจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2552 และ 2553 จึงอยากเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีหาแนวทางใฃนการดูแลความเรียบร้อย เพื่อไม่ให้มวลชนเผชิญหน้ากันและนำไปสู่ความรุนแรงโดยเด็ดขาด

ขณะที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรค ปชป. กล่าวถึงกรณี กกต.เชิญพรรคการเมืองหารือเรื่องแนวทางการเลือกตั้งในวันที่ 22 เม.ย.นี้ โดยเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยส่งบุคคลสำคัญเข้าหาร่วมหารือ และต้องมีการถ่ายทอดสดด้วย ภายหลังท่าทีพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์ ซึ่งโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า การถ่ายทอดสดเป็นเรื่องที่ดี ประชาชนจะได้เห็นแนวคิดของผู้นำแต่ละพรรคการเมืองว่าจะมีแนวทางหรือยุทธศาสตร์ทางการเมืองอย่างไร และย้ำว่าทางพรรคประชาธิปัตย์พร้อมให้ความร่วมมือให้การเข้าร่วมการหารือในครั้งนี้อย่างเต็มที่

นายชวนนท์ เชื่อว่า ตัวแทนพรรคเพื่อไทยที่ส่งมาร่วมหารือไม่ได้มีอำนาจการตัดสินใจ เป็นเพียงคนนำสารจากที่ประชุมพรรคเพื่อไทยมาแจ้งต่อ กกต.ให้เดินหน้าจัดการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะสุดท้ายต้องรับฟังคำสั่งจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และหากเป็นไปได้อยากให้ กกต.อนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถสไกค์มาแสดงความเห็นผ่านการหารือกับทุกพรรคการเมืองได้

"หากพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการถ่ายทอดสดก็อยากให้ กกต.ดำเนินการเรื่องนี้ด้วยตนเอง เพื่อให้การหารือในวันที่ 22 เมษายนเกิดประโยชน์ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและหาทางออกให้กับประเทศได้อย่างแท้จริง" นายชวนนท์ กล่าว

โฆษกพรรค ปชป.กล่าวว่า กรณีกลุ่มคนเสื้อแดงเตรียมชุมนุมหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณี โยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี มิชอบด้วยกฎหมาย ว่า เป็นยุทธศาสตร์ด่านหนึ่งที่ต้องการใช้กลุ่มคนเสื้อแดงกดดันการทำหน้าที่ของศาลให้ศาลเกิดความวิตกกังวล รวมถึงการที่รัฐมนตีออกมาแสดงความเห็นว่า หากศาลตัดสินไม่ตรงใจกับประชาชนอาจจะมีประชาชนออกมาต่อต้านเป็นจำนวนมาก และการใช้กฎหมายที่บิดเบียนความจริง ต่อกรณีที่จะมีการถวายฏีกานั้นอาจเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคคลบาทและถือเป็นการทำตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์

โฆษกพรรค ปชป.กล่าวว่า ยังกล่าวถึงกรณีมีผู้เสนอให้ตั้งรัฐบุคคลแก้ปัญหาบ้านเมือง โดยย้ำว่าเป็นข้อเสนอของคนกลุ่มหนึ่งแต่อย่างน้อยเป็นเจตนาดีที่จะแก้ไขปัญหาทางการเมืองในขณะนี้ แต่เมื่อมีชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ย่อมมีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกลุ่ม นปช.ที่เคยกล่าวหา พล.อ.เปรม เกี่ยวข้องทางการเมือง แต่ส่วนตัวมองว่า พล.อ.เปรม ไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมือง หรืออยู่เบื้องหลังกลุ่ม กปปส. ดังนั้นจึงไม่อยากให้นำมาเป็นประเด็นในการปลุกระดมมวลชนเพื่อให้ออกมาชุมนุม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ