"คำนูณ"ลุ้นศาล รธน.วินิจฉัยสถานภาพนายกฯก่อนกำหนดวันเลือกตั้งเพื่อเปิดกว้างแก้ปัญหาชาติ

ข่าวการเมือง Thursday April 17, 2014 11:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ระบุว่า มีโอกาสที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยสถานภาพนายกรัฐมนตรีในช่วงปลายเดือนเม.ย.นี้หากไม่อนญาตให้ขยายเวลาการชี้แจงข้อกล่าวหาออกจากกำหนดวันที่ 18 เม.ย. ประเมินภาพความแตกต่างหากผลออกมาก่อนหรือหลังกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ โดยมองว่าแนวทางที่จะเกิดประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองคือผลที่ออกมาก่อนกำหนดเลือกตั้ง เพราะจะทำให้การแก้ปัญหาเปิดกว้างมากกว่าการที่มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งฯ เป็นตัวสำคัญในการคุมเกม

นายคำนูณ กล่าวให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์เช้านี้ว่า ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญจะสามารถวินิจฉัยกรณีสถานภาพของนายกรัฐมนตรีจากการมีคำสั่งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ได้เมื่อใด เนื่องจากล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้ขอขยายเวลาการเข้าชี้แจงต่อศาลออกไปอีก 15 วัน จากที่จะครบกำหนดในวันพรุ่งนี้(18 เม.ย.)

แต่ความเป็นไปได้ในเงื่อนเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยกรณีสถานภาพของนายกรัฐมนตรี มีโอกาสจะเป็นวันที่ 23 เม.ย. หรือ 25 เม.ย. หรือ 30 เม.ย. แต่ทั้งนี้ขึ้นกับว่าศาลรัฐธรรมนูญจะอนุญาตให้นายกรัฐมนตรีขยายเวลาการเข้าชี้แจงออกไปอีก 15 วันนับจากวันพรุ่งนี้(18 เม.ย.)หรือไม่

"ผมเคยบอกให้จับตาดูวันที่ 23 เม.ย.โอกาสคือ 1.ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลย 2.ศาลกำหนดวันลงมติและวันวินิจฉัย วันที่ 25 หรือ 30 เม.ย. หรืออาจยังไม่มีการออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนก็ได้ ซึ่งมีโจทย์ใหม่ที่นายกฯ ขอเลื่อน 15 วัน ต้องดูว่าศาลจะว่าอย่างไร" นายคำนูญ กล่าว

นายคำนูณ กล่าวว่า กรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) วางกรอบเวลาเบื้องต้นที่จะให้มีการหารือระหว่าง กกต.กับรัฐบาลในวันที่ 29 หรือ 30 เม.ย.เพื่อร่วมกันกำหนดวันเลือกตั้งใหม่นั้น หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยสถานภาพของนายกรัฐมนตรีได้ก่อนย่อมจะมีผลในทางการเมืองที่แตกต่างจากการมีคำวินิจฉัยหลังการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่

"หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยภายหลังมีการตรา พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่แล้ว จากที่หลายฝ่ายคิดว่าจะนำไปสู่ทางตัน และตั้งนายกฯ ก็จะมีข้อโต้แย้งที่สำคัญขึ้นมาทันทีว่า มันยังไม่เกิดทางตันหรือยังไม่เกิดสูญญากาศที่สมบูรณ์แบบ เพราะมีการเลือกตั้งรออยู่ข้างหน้า" นายคำนูณ กล่าว

หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี(ครม.)สิ้นสภาพ ต้องดูคำวินิจฉัยว่าจะเลยไปถึงสถานภาพของ ครม.ด้วยหรือไม่ หากมีผลก็คงไม่มีรัฐมนตรีคนใดนั่งประชุมกับ กกต.เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ แต่ถ้ามีการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ไปแล้ว ไม่ว่าศาลจะวินิจฉัยอย่างไร ก็จะไม่เกิดทางตันที่สมบูรณ์แบบ เพราะมีการเลือกตั้งรออยู่ข้างหน้า

"ถ้ามีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในทางลบกับนายกฯ และคณะรัฐมนตรีในขณะที่วันเลือกตั้งใหม่ยังกำหนดไม่ได้ กรณีนี้จะแตกต่างกันมาก" นายคำนูณ กล่าว

พร้อมมองว่า อยากเห็นศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยสถานภาพนายกรัฐมนตรีก่อนกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ เพราะหากคำวินิจฉัยออกมาหลังจากมี พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ คงจะอ้างได้ว่าเกิดสูญญากาศเต็มร้อยได้ไม่เต็มปาก และอาจจะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่อไปอีก หรือหากสมมติว่ามีนายกฯ และรัฐบาลคนกลางโดยสถานการณ์ใดก็ตาม แต่จะมี พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่คาอยู่ ภารกิจรัฐบาลคนกลางคงทำอะไรมากไม่ได้ แต่ถ้ายังไม่มีการตราพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่การแก้ปัญหาจะเปิดกว้างมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ