ขณะที่ฝ่ายรัฐสภายืนยันความเห็นทางกฎหมายว่าหน้าที่ทูลเกล้าฯถวายและลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ พ.ร.ฎ.เรียกประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญเพื่อทำหน้าที่ถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งและให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งเป็นของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 195 วรรคแรกประกอบมาตรา 128 วรรคสาม
ทั้งนี้ หากยังมีความเห็นต่างก็จะดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตีความ แต่ส่วนตัวอยากให้คณะรัฐมนตรีและวุฒิสภาทำความเข้าใจและหาข้อสรุปร่วมกันได้โดยไม่จำเป็นต้องถึงขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญ
นายสุรชัย กล่าวว่า การขอเปิดประชุมในครั้งนี้ เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 132 และเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้อร้องเรียนถึงการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อไม่สามารถเปิดประชุมในวันที่ 18 เม.ย.ได้ทัน จึงกำหนดให้จัดประชุมในวันที่ 24 เม.ย.หรืออาจจะเป็นวันที่ 30 เม.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายตามกรอบเวลา 30 วันที่กฎหมายบัญญัติไว้หลังจากการเลือกตั้ง ส.ว.เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา
การเปิดประชุมดังกล่าวมีวาระสำคัญเพื่อแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คนใหม่ และดำเนินกระบวนการถอดถอนนายนิคม ไวรัชพานิช ออกจากตำแหน่งประธานวุฒิสภา
นายสุรชัย กล่าวว่า ได้ประสานไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ทราบถึงกรอบการทำงานเพื่อให้ประกาศรับรอง ส.ว.ที่เหลือ ไม่ให้กลายเป็นปัญหาในการเปิดประชุมวุฒิสภา