เนื่องจากมาตรา 181 บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ได้รับเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่ และ เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญมาตรา 181 บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีทั้งคณะที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
อีกทั้งยังสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 180 (1) และมาตรา 181 ที่บัญญัติว่า "รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182 "และ" คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่"
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้พ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (1) (3) หรือ (5) แต่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 180 (2) คือ เมื่ออายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร และด้วยเหตุนั้น บทบัญญัติมาตรา 10 วรรคห้าของพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ที่ให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน จึงนำมาใช้บังคับไม่ได้ เมื่อนำมาใช้บังคับไม่ได้ นายกรัฐมนตรียังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 181
เช่นเดียวกันกับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยสถานภาพของนายกรัฐมนตรี ตามคำร้องของกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวคือ ถึงแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งเฉพาะตัวตามมาตรา 182 (7) ประกอบ มาตรา 268 และมาตรา 180 (1) แต่ก็จะไม่มีผลอะไร เพราะนายกรัฐมนตรีได้พ้นจากตำแหน่งไปตามมาตรา 180 (2) แล้ว ไม่สามารถที่จะพ้นจากตำแหน่งอีกครั้งหนึ่งได้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถลบล้างมาตรา 181 ของรัฐธรรมนูญได้
นายคณิน ยังระบุอีกว่า กรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่างจากกรณีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งพ้นสภาพ ส.ส. ไปแล้ว เนื่องจากมีการยุบสภา ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องจำหน่ายคดีไปว่าเป็นตรรกะที่ใช้ไม่ได้ กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับวินิจฉัยตั้งแต่ต้น เพราะไม่ได้กระทำการอันต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ตรงกันข้ามได้กระทำตามกรอบของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายทุกประการ เริ่มตั้งแต่ มาตรา 11 (5) ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ที่บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งข้าราชการ ตั้งแต่ อธิบดี หรือเทียบเท่าขึ้นไปโดย ต้องข้ออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี" หรือจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว และนำความกราบบังคมทูลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 193 ที่บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า" ต่อจากนั้นนายกก็ลงนามรับสนองพระบรมราชองค์การแต่งตั้งเป็นอันสมบูรณ์ ทั้งตามกรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
แต่สำหรับกรณีนายอภิสิทธิ์ะนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ ชิงจำหน่ายคดีไป โดยอ้างการยุบสภานั้น เป็นการเลี่ยงบาลี เพราะว่าศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ วินิจฉัยว่า ส.ส. ที่เคยถูกปลดออกจากราชการกรณีการทุจริต จะต้องพ้นจากตำแหน่ง ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิด นายอภิสิทธิ์จะไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง เป็น ส.ส. ได้อีกตลอดชีวิต เพราะมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 102 (6)
ดังนั้น การจำหน่ายคดี นายอภิสิทธิ์ จึงเท่ากับเป็นการอุ้ม นายอภิสิทธิ์ให้พ้นจากการมีลักษณะอันต้องห้ามในการเข้ารับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตลอดชีวิตนั่นเอง ซึ่งก็คล้ายจะเป็นหนังม้วนเดียวกับที่ ป.ป.ช. ดองคดีนายอภิสิทธิ์ที่ถูกร้องว่าทุจริตโครงการระบายข้าวเมื่อ 4 ปี ที่แล้ว แต่กลับให้มาเป็นพยานปากเอกในการกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่ามีส่วนรู้เห็นในการทุจริตโครงการจำนำข้าว