พร้อมระบุว่า กกต.ได้จัดเตรียมกระบวนการในการรับสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าไว้ โดยจะเปิดให้รับสมัครทางไปรษณีย์ได้ และจะให้พรรคการเมืองมีใบมอบอำนาจแก่ กกต.ในการสามารถจับฉลากเลือกหมายเลขประจำตัวผู้สมัครแทนได้ ขณะที่การรับสมัคร ส.ส.ระบบแบ่งเขตนั้น จะเปิดช่องให้มีการรับสมัครทางอินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้มีผู้สมัครส.ส.ได้ครบทุกเขต ส่วนการเปิดรับสมัครทางไปรษณีย์นั้น อาจจะมีเหตุปิดล้อมที่ทำการไปรษณีย์ขึ้นได้จนทำให้การรับสมัครส.ส.แบบแบ่งเขตในช่องทางนี้ไม่ประสบความสำเร็จ
"เหตุที่ทำให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.โมฆะคือ การเลือกตั้งทั่วไปที่ไม่สามารถจัดขึ้นได้ในวันเดียว ย้อนไปคือ ไม่มีผู้สมัครบางเขต เนื่องจากถูกขัดขวาง กกต.จึงได้พยายามออกแบบการรับสมัครในครั้งนี้ให้มีผู้สมัครครบทุกเขต ดังนั้นยืนยันได้ว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่จะไม่โมฆะด้วยสาเหตุเดิม" นายสมชัย กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์เช้านี้
สำหรับในวันเลือกตั้งนั้น กกต.จะจัดกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งสำรองไว้ ถ้ากรรมการตัวจริงไม่มา ก็จะจัดกรรมการสำรองไปแทน ส่วนสถานที่หรือหน่วยลงคะแนนจะต้องจัดอยู่ในสถานที่ปลอดภัยไว้ ทุกคนสามารถเดินทางไปได้ แต่ทั้งนี้ กกต.คงไม่สามารถรับประกันได้ว่า หน่วยเลือกตั้งทุกหน่วยจะสามารถเปิดดำเนินการได้ครบ หรือจะไม่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ตราบใดก็ตามที่ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ เพราะไม่รู้ว่าคนจะเกรงกลัวกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากมีกรณีใดๆ เกิดขึ้นจนทำให้บางหน่วยเลือกตั้งไม่สามารถจัดเลือกตั้งได้ก็ต้องยกเลิกไป แต่ กกต.จะจัดเลือกตั้งซ่อมไปเรื่อยๆ ในหน่วยที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้
พร้อมยืนยันว่า กกต.เตรียมไว้หลายมาตรการ และนำประสบการณ์การจัดเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.มาปรับปรุงใหม่ โดยจะมีมาตรการที่ดีขึ้น ซึ่งเชื่อว่าคราวนี้จะสามารถทำให้การเลือกตั้งเดินไปถึงวันเลือกตั้งได้ แต่ถ้าการเลือกตั้งทำได้ไม่ครบทุกหน่วย หรือไม่สามารถเปิดประชุมสภาฯ ได้ภายใน 30 วันอย่ามาว่ากัน เพราะเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันว่าเป็นปัญหาของฝ่ายบ้านเมืองเองที่ไม่สามารถจะดูแลให้เกิดความเรียบร้อยได้ กกต.มีบุคลากรอยู่เท่านี้ และคงไม่สามารถจะทำอะไรได้มากไปกว่านี้แล้ว
"หน่วยเลือกตั้งไหนมีปัญหา จะแขวนไว้ก่อน แล้วค่อยมาเลือกตั้งซ่อมทีหลัง จะไม่เกิดการโมฆะเหมือน 2 ก.พ. แต่การซ่อมจะยาวนานแค่ไหนเราไม่ทราบ...หน่วยเลือกตั้งใดที่สามารถจัดการเลือกตั้งซ่อมได้ เราจะจัดไปเรื่อยๆ ถ้ายังซ่อมไม่เสร็จ ส.ส.บัญชีรายชื่อก็ประกาศไม่ได้ ดังนั้นที่เราบอกว่า จะประกาศชื่อ ส.ส.ได้ครบ 95% ใน 30 วัน ก็ต้องบอกว่าเราไม่สามารถรับประกันได้ ส่วนจะเลยไปใช้เวลาเท่าใดไม่ทราบ มีกรอบ 180 วัน หากยังเลือกตั้งได้ไม่ครบทุกหน่วย ตัองไปลุ้นอีกว่าจะเกิดอะไรขึ้น" นายสมชัย ระบุ
สำหรับการนัดหารือกับ 70 พรรคการเมืองในวันพรุ่งนี้(22 เม.ย.)นั้น จะเป็นการตั้งโจทย์ให้แต่ละพรรคการเมืองได้แสดงความเห็นว่า การจัดเลือกตั้งวันไหนจึงจะประสบความสำเร็จ และเป็นวันที่มีความเหมาะสม และทำให้มี ส.ส.ครบ จนสามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ และมีรัฐบาลที่เป็นทางการ
"โดยฝ่ายที่สมควรเห็นว่าจะต้องมีการเลือกตั้งเร็ว จะมีใครพูดบ้าง เหตุผลคืออะไร ส่วนอีกฝ่ายที่เห็นควรว่าเลือกตั้งช้า น่าจะเป็นเมื่อใด หลังจากนั้นก็สอบถามเหตุผลต่างๆ นี่ก็อาจเป็นรูปแบบที่เป็นไปได้ในการจัดการประชุมวันพรุ่งนี้ แต่รูปแบบยังไม่นิ่ง ยังไม่ตายตัว" นายสมชัย กล่าว
ส่วนกรณีที่มีข่าวออกมาว่ามีการประเมินวันเลือกตั้งรอบใหม่ไว้ในเบื้องต้นแล้ว เช่น วันที่ 15 มิ.ย. หรืออาจเป็นวันที่ 20 ก.ค.นั้น นายสมชัย ชี้แจงว่า วันที่ 15 มิ.ย.มีที่มาจากข้อสรุปเบื้องต้นในการประชุมร่วมกันของ 30 พรรคการเมืองที่คุยกันไปก่อนหน้านี้ ซึ่งแนวทางนี้พรรคเพื่อไทยค่อนข้างจะตอบรับ
ส่วนวันที่ 20 ก.ค.นั้น มาจากการที่ตนได้หารือกับเจ้าหน้าที่ของ กกต. ซึ่งได้มีการคำนวณปฏิทินในเชิงเทคนิคไว้ว่าหากจะมีการจัดเลือกตั้งให้เร็วที่สุดโดยไม่ฉุกละหุกจะเป็นวันใด ซึ่งพบว่าเป็นวันที่ 20 ก.ค. เพราะเป็นการครบกำหนด 90 วัน หลังจากการระหว่างกกต.กับรัฐบาลที่คาดว่าจะเป็นวันที่ 30 เม.ย.
"หลังจากนั้น ถ้ารัฐบาลเห็นตรงกับเรา รัฐบาลก็มีหน้าที่ทูลเกล้าฯ ขึ้นไปเพื่อขอพระราชทานกฤษฎีกา ซึ่งปกติกระบวนการทางเอกสารที่เคยทำมา ใช้เวลา 20 วันขึ้น-ลง รวมกับเวลาที่คุยกันเองและคุยกับรัฐบาลอีก 10 วัน ดังนั้นคือ 10+20 เป็น 30 และหลังจากพระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นใน 60 วัน ดังนั้นจึงรวมเป็น 90 วัน ไม่มีเหตุผลอะไรมากไปกว่านั้น" นายสมชัย กล่าว
พร้อมชี้แจงต่อว่า การคำนวณว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นอย่างเร็วสุดในมุมของกกต.ว่าเป็นวันที่ 20 หรือ 27 ก.ค.นั้น เจ้าหน้าที่ได้คำนวณเวลาแล้ว เพราะถ้าเร็วกว่านี้จะฉุกละหุก เนื่องจากกระบวนการเลือกตั้งที่ต้องใช้เวลา 60 วันหลังจากมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งแล้วเพราะต้องมีกระบวนการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งที่ต้องใช้เวลา และมีกระบวนการตรวจสอบขั้นตอนความปลอดภัยทั้งหมด จากนั้นการจัดส่งบัตรเลือกตั้งต้องส่งไปทั่วโลก ต้องให้เวลาสำหรับการเลือกตั้งในต่างประเทศอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หลังจากนั้น การเลือกตั้งในประเทศเองต้องมีการเลือกตั้งล่วงหน้า
"ทุกอย่างนับถอยหลังได้หมด ว่าเวลาที่เราทำได้เร็วที่สุดกี่วัน ถ้าทำให้เร็วกว่านั้นก็ทำได้ แต่ฉุกละหุก และจะเกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น จะลุ้นว่าบัตรจะพิมพ์ทันหรือไม่ เป็นต้น ผมคิดว่าทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผลแล้ว...ส่วนที่เสนอ 15 มิ.ย. ก็ให้ฝ่ายที่เสนอทำปฏิทินถอยหลังให้ผมดู ถ้าทำได้ ผมจะให้มาเป็น กกต." นายสมชัย กล่าว