หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.57 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 21 มี.ค.57 แม้จะผ่านไป 1 เดือนแล้วยังไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ ซึ่งดูเหมือนช้าแต่ไม่ช้า โดยอยากให้เทียบกับเหตุการณ์ใกล้เคียงกันในปี 49 เมื่อวันที่ 8 พ.ค.49 ศาลรัฐธรรมนูญยุคนั้นวินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง 2 เม.ย.49 ไม่ชอบและให้จัดการเลือกตั้งใหม่ทั้งกระบวนการ ต่อมาวันที่ 20 ก.ค.49 ประกาศพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2549 โดยพระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับวันที่ 24 ส.ค.49 และมีการเลือกตั้งในวันที่ 15 ต.ค.49 ซึ่งจะเห็นว่านับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใช้เวลาถึง 2 เดือน 12 วันจึงจะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ และแทนที่จะให้พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับทันทีอันจะทำให้การเลือกตั้งใหม่ต้องทำภายในไม่เกิน 60 วัน ยังใช้เทคนิคทางกฎหมายให้พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับในอีก 1 เดือน 4 วันข้างหน้า แล้วกำหนดวันเลือกตั้งในอีกเกือบ 60 วันตามบังคับ รวมแล้วคือกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ภายใน 90 วัน เท่ากับรวมแล้วนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กว่าจะถึงวันกำหนดเลือกตั้งใหม่ยังใช้เวลาอีก 5 เดือนเศษโดยประมาณ
เมื่อเทียบกับปี 2557 นี้แล้ว เวลาเพิ่งผ่านมาเดือนเดียว และกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ที่แทบทุกพรรคต้องการภายในสิ้น มิ.ย.57 นั้นก็จะห่างจากวันวินิจฉัยเพียง 3 เดือนเศษเท่านั้น สถานการณ์ ณ ปี 2549 ก็มีการชุมนุมต่อต้านระบอบทักษิณเหมือนวันนี้ และการเลือกตั้งครั้งแรกพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ลงสมัครเหมือนวันนี้ ระยะเวลา 2 เดือน 12 วันแรกคือระยะเจรจาระหว่าง กกต.กับทุกฝ่าย เมื่อลงตัวพอสมควรแล้วยังทอดระยะเวลาอีก 1 เดือน 4 วันจึงจะมีผลเริ่มต้นกระบวนการใหม่
"สถานการณ์ ณ ปี 2557 ที่หนักหนาสาหัสกว่าคือมีการขัดขวางการเลือกตั้งจากมวลชน สถานการณ์นี้ยังคงดำรงอยู่ เชื่อว่าวันนี้ปีนี้กกต.คงพยายามนำเทคนิคทางกฎหมายเดิมมาใช้อีก เพื่อทอดระยะเวลาให้พูดคุยตกลงกันได้ ตามเทคนิคนี้อย่าว่าแต่ภายใน 90 วันหลังตราพระราชกฤษฎีกาเลย 180 วันหรือมากกว่ายังได้" นายคำรูณ ระบุ
กรณี timeline ของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต..ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เมื่อวันก่อนว่า กำหนดวันเลือกตั้งใหม่อาจเป็น 20 หรือ 27 ส.ค.57 จะเป็นประเด็นถกเถียงสำคัญอันน่าจะทำให้ยังไม่สามารถหาฉันทมติจนสามารถตราพระราชกฤษฎีกาได้ภายในสิ้นเดือน เม.ย.57 ทำให้เป็นไปได้สูงว่าจะยังตกลงกันไม่ได้ก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีสำคัญ เพราะคำวินิจฉัยคดีสำคัญมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 7 พ.ค.57