อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัยและมีคำวินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ก็ไม่มีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 182 (7) และไม่มีผลทำให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรคหนึ่ง (1) เนื่องจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นๆ นั้น พระมหากษัตริย์ทรงได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจะสิ้นสุดลง หรือรัฐมนตรีทั้งคณะจะพ้นจากตำแหน่ง ก็ต่อเมื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีแล้วเท่านั้น
ส่วนในจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2 ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ ได้ให้ความเห็นว่า กระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม เนื่องจากการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันเป็นการใช้ข้อกำหนดที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดขึ้นเองฝ่ายเดียว โดยมิได้ตราขึ้นเป็นกฎหมายโดยองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนดังเช่นกระบวนพิจารณาของศาลอื่นๆ เช่น ศาลแพ่ง ศาลอาญา และศาลปกครอง
ดังนั้น ในเมื่อการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ดำเนินการไปโดยความยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมายแล้ว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่ถือว่าเป็นเด็ดขาด ไม่มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ด้วยเหตุนี้ศาลรัฐธรรมนูญจึงควรที่จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ของตนไว้ก่อนจนกว่าจะได้ดำเนินการให้เป็นไปโดยถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือหลักนิติธรรม
อนึ่ง ศอ.รส.ขอเรียนว่าความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับแถลงการณ์ ศอ.รส. ฉบับที่ 1 และแสดงให้เห็นว่าความกังวลของ ศอ.รส. ว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยเกินกว่ารัฐธรรมนูญนั้น มิได้เป็นการคาดการณ์ที่ไร้มูลความจริง และศอ.รส. มิได้มุ่งหวังที่จะก้าวก่าย ทำลายชื่อเสียงหรือความเชื่อถือศรัทธาของศาลรัฐธรรมนูญตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา ในทางกลับกัน หากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีนี้อย่างตรงไปตรงมาตามข้อกฎหมาย ก็จะเป็นการพิสูจน์เองว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม และจะได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชน
เรื่องที่ 2 ตามที่ได้มีการออกแถลงการณ์ ศอ.รส. ฉบับที่ 1 นั้น ศอ.รส. ห่วงใยว่าการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่ประเด็นก่อให้เกิดความรุนแรงระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนฝ่ายต่างๆ และจากการตรวจสอบย้อนไป พบว่า เมื่อครั้งมีกรณีวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งและกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา โดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และคณะได้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี คือ นายสมัคร สุนทรเวช ในขณะนั้น โดยมีคำวินิจฉัยไว้ชัดเจน เป็นมติเอกฉันท์วินิจฉัยกรณีดังกล่าวนี้ว่า “ผู้ถูกร้องกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7)
และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้อง กระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 จึงเป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรคหนึ่ง (1) แต่ด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีเป็นการสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่เหลือจึงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181" ดังมีรายละเอียดปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 12-13/2551 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 โดยคำวินิจฉัยนี้ ได้พิจารณาโดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเกือบทุกท่าน จำนวน 8 ใน 9 ท่าน ซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน
เรื่องที่ 3 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2557 ศอ.รส. ได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวง เลขาธิการ หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่เทียบเท่า รวมทั้งสิ้น 37 หน่วยงาน เพื่อแจ้งข้อสั่งการของ ศอ.รส.ให้หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า อธิบดีหรือเทียบเท่า ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และรัฐวิสาหกิจ ดำเนินคดีอาญาและดำเนินคดีแพ่งโดยเร่งด่วน ในกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมายังสถานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐ แล้วทำการปิดล้อม บุกรุก หรือข่มขู่ หรือทำให้เสียทรัพย์ รวมถึงให้หลีกเลี่ยงการต้อนรับหรือกระทำการใดๆ ที่เข้าข่ายเป็นการสนับสนุนหรือเห็นด้วยกับการกระทำของแกนนำกลุ่ม กปปส. หรือกลุ่มอื่นใด ซึ่งอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีด้วย
โดยข้อสั่งการดังกล่าวของ ศอ.รส. เป็นไปตามอำนาจตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งนี้ ศอ.รส. เชื่อมั่นว่าการสั่งการเช่นนี้จะช่วยป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรได้ เนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย และลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น
เรื่องที่ 4 ตามที่ ศอ.รส.มีข้อห่วงใยต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ซึ่งยืดเยื้อมาเป็นเวลานานหลายเดือนนั้น ศอ.รส. ขอเรียนว่า จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาพบว่า ความขัดแย้งทางการเมืองได้ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจไปมากกว่า 3 แสนล้านบาทแล้ว ดังนั้น ศอ.รส. จึงขอเรียกร้องให้ประชาชน ผู้เข้าร่วมชุมนุม และแกนนำกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม กปปส. กลุ่ม นปช. หรือกลุ่มอื่นใด ได้ตระหนักถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ และร่วมกันแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยสันติวิธีโดยเร็วเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ เพราะหากเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวแล้วก็ยากที่จะแก้ไขได้