สำหรับการกำหนดกรอบเวลาใกล้ระยะ 60 วัน เป็นการเผื่อเวลาไว้เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้หากเกิดการติดขัด เพราะหากกำหนดกรอบเวลาน้อยกว่านั้นจะตึงจนเกินไป หากเกิดปัญหาจุดใดจุดหนึ่งก็จะส่งกระทบทั้งหมด
"เป็นเหตุผลในการทำงานจากประสบการณ์ ไม่ใช่การประวิงเวลาเพื่อใครคนใดคนหนึ่งอย่างที่มีการกล่าวหา" นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า ปัญหาการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ได้มาจาก กกต.หรือพรรคการเมือง แต่เกิดจากคู่ขัดแย้งในสังคมที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งหากสถานการณ์ความขัดแย้งยังมีอยู่ต่อไปจะส่งผลให้การเลือกตั้งไม่สำเร็จ แต่เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะมีขึ้นจะเกิดปัญหาน้อยที่สุด เพราะ กกต.ได้นำปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ก.พ.มาปรับปรุงแก้ไขแล้ว
นอกจากนี้ พรรคการเมืองควรที่จะบอกมวลชนที่สนับสนุนตัวเองให้เลิกขัดขวางการเลือกตั้ง ไม่ใช่ปล่อยให้ออกมาสร้างปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต้องช่วยกัน
"ถ้าประชาธิปัตย์ไปหาเสียงทางภาคเหนือไม่ได้ เพื่อไทยไปหาเสียงภาคใต้ไม่ได้ กกต.ลงพื้นที่บางแห่งไม่ได้ การเลือกตั้งก็จะมีปัญหา"นายสมชัย กล่าว
ด้านนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.กล่าวว่า ข้อเสนอ 53 พรรคการเมืองที่เสนอให้จัดการเลือกตั้งในวันที่ 15 มิ.ย.นั้น กกต.คงไม่สามารถดำเนินการได้เพราะเวลากระชั้นเกินไป แม้ กกต.ยินดีที่จะจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด
ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น นายศุภชัย เปิดเผยว่า พอใจกับผลการหารือในวันนี้ โดยจะนำข้อสรุปที่ได้ไปหารือกับรัฐบาลภายในวันที่ 28 เม.ย.นี้ โดยวางเป้าหมายในการจัดการเลือกตั้งครั้งหน้าว่าจะไม่ให้เกิดความสูญเสียหรือมีเหตุการณ์รุนแรงขึ้นอีก
พร้อมยืนยันว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ตัดสินว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ แต่กระบวนการในการลงคะแนนที่ไม่สามารถลงคะแนนเสียงครบทุกเขตได้ภายในวันเดียวนั้นถือว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 108 วรรค 2
"กรณีนี้ เมื่อศาลชี้ว่ากระบวนการไม่ถูกต้อง ก็ไม่จำเป็นต้องไปพิจารณาให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.เป็นโมฆะอีก เหมือนกรณีที่ศาลตัดสินว่าถูกประหารให้ฟันคอแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องให้ฟันแขน ฟันขาอีก" ประธาน กกต.กล่าว
นายศุภชัย กล่าวว่า การเลือกตั้งอาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่าวันที่ 20 ก.ค.57 ก็ได้ แต่จะต้องมีการพิจารณาข้อมูลประกอบอย่างรอบคอบ
ด้านนายประวิทย์ รัตนเพียร กรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า ตามที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งตัวแทนมาเข้าร่วมประชุมกับ กกต.ในวันนี้ แต่พร้อมจะให้ความร่วมมือกับการเลือกตั้ง และขอดูท่าทีผลสรุปจากการประชุมที่ได้ในวันนี้ก่อนว่าจะออกมาอย่างไร ซึ่งกกต.เองต้องนำข้อมูลไปพิจารณาอย่างรอบคอบทุกด้านเช่นกัน พร้อมยืนยันว่า การดำเนินการทุกขั้นตอนจะดูแลให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย