กทม.เตรียมตั้งศูนย์ฯ รับมือกลุ่มผู้ชุมนุมหากเคลื่อนไหวหลังศาล รธน.-ป.ป.ช.มีคำสั่ง

ข่าวการเมือง Monday April 28, 2014 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ตรีดาว อภัยวงษ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครว่า ที่ประชุมได้รายงานถึงการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ความไม่สงบในบ้านเมือง จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมต่างๆ ในการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีรัฐบาลใช้อำนาจโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญกำหนดการไต่สวนครั้งสุดท้าย ในวันที่ 6 พ.ค. 57 แต่ยังไม่ได้กำหนดวันพิพากษา และการพิจารณาโครงการรับจำนำข้าวของคณะกรรมการ ปปช. ซึ่งขณะนี้รักษาการนายกรัฐมนตรีได้ขอขยายเวลาการชี้แจงกับคณะกรรมการป้องกันและปราบกรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คาดว่าจะพิจารณาหลังศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงการเตรียมการรับมือเหตุแทรกซ้อนจากการใช้อาวุธสงครามเพื่อข่มขวัญ และการสังหารแกนนำระดับรองของทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ความไม่สงบ ดังนี้ 1.การเตรียมการในสถานการณ์ที่ยังไม่มีความรุนแรง กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ ตามคำสั่งที่ 12/2557 ลงวันที่ 21 มี.ค. 57 มีผลตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. – 30 เม.ย. 57 ตามระยะเวลาประกาศตั้ง ศอ.รส. ซึ่งมีการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ในแต่ละวัน และมอบหมายหน่วยงานปฏิบัติหน้าที่ เพื่อลดผลกระทบจากการชุมนุม และการรักษาความปลอดภัยของประชาชน การเตรียมความพร้อมทางด้านการแพทย์เพื่อช่วยเหลือประชาชน

2.กรณีที่มีการชุมนุมของผู้ชุมนุมจำนวนมาก เช่น กลุ่ม นปช. ที่ถนนอักษะจะดำเนินการตั้งศูนย์ส่วนหน้าเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร โดยดำเนินการเช่นเดียวกับการตั้งศูนย์อำนวยการส่วนหน้ารับมือการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. และผู้ชุมนุมกลุ่มอื่น และ 3.กรณีที่เกิดความรุนแรง เช่น มีการปะทะของผู้ชุมนุม หรือมีการทำลายสถานที่สำคัญ การปฏิบัติการจะเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาล กรุงเทพมหานครจะให้การสนับสนุนตามที่ได้รับการร้องขอ เช่น การช่วยเหลือทางการแพทย์ การระงับเหตุอัคคีภัย และการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบสถานการณ์เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ซึ่งไม่ปลอดภัย

นอกจากนี้จะต้องมีการสั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมในสถานที่ เพื่อรักษาสถานที่ราชการและสถานที่สำคัญ โดยเมื่อเกิดสถานการณ์รุนแรงเห็นควรดำเนินการ 3 แนวทาง ได้แก่ 1.ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฉุกเฉินทันที และให้ทุกหน่วยงานถือปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติต่อสถานการณ์ชุมนุมของกรุงเทพมหานคร 2.รวมระบบการสื่อสารและการสั่งการ เพื่อให้สั่งการเครือข่ายการปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3.เป็นศูนย์ช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ โดยใช้ประโยชน์จากศูนย์ 1555 และวิทยุ กทม. เพื่อให้ประชาชนแจ้งข้อมูลข่าวสาร และทุกสำนักงานเขตต้องเตรียมศูนย์เพื่อพร้อมให้ความช่วยเหลือในระดับเขต และสนับสนุนส่วนกลางตามที่ร้องขอ นอกจากนี้ให้มีการตรวจสอบหากฎระเบียบในการช่วยเหลือเยียวยาข้าราชการและลูกจ้างกรุงเทพมหานครที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในการเสี่ยงภัยด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ