จากนั้นจะเข้าสู่วาระการพิจารณาใน 2 เรื่อง คือ การให้ความเห็นชอบน.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลังให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ ได้คัดเลือกมาแล้ว และเรื่องพิจารณาแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในศาลปกครอง
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการ ป.ป.ช. จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ซึ่งต้องส่งเรื่องไปยังหลายหน่วยงานเพื่อขอข้อมูล และการให้ความเห็นชอบดังกล่าวยังมีประเด็นเรื่องกรอบเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 246 และมาตรา 206 ว่าด้วยการสรรหาและเลือกกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดให้วุฒิสภาต้องให้ความเห็นชอบภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันได้รับรายชื่อจากคณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 9 พ.ค. นี้
ดังนั้น หากวุฒิสภาไม่สามารถทำได้ทันกรอบเวลาดังกล่าวอาจจะเกิดปัญหาข้อกฎหมาย อาทิ หากเกินกรอบระยะเวลาไปแล้ว อาจมีผู้ร้องให้ส่งคืนไปยังกรรมการสรรหา เพื่อพิจารณาใหม่ หรือ หากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบเกินกรอบเวลาที่ระเบียบกำหนดอาจถูกนำไปร้องเรียนว่าทำไม่ถูกต้อง และเป็นปัญหาต่อการปฏิบัติหน้าที่ได้
"จะเห็นได้ว่าวุฒิสภามีเวลาเพียงแค่ 7 วัน สำหรับการดำเนินการเลือก น.ส.สุภา ดำรงตำแหน่งกรรมการป.ป.ช. จึงคาดว่าจะต้องมีการประชุมทุกวัน โดยจะต้องให้เจ้าหน้าที่จัดตารางเวลาการทำงานอย่างละเอียดใช้เวลาทั้งเช้าเย็น เพื่อให้การดำเนินงานทันต่อระยะเวลาที่มีจำกัด แต่ขอยืนยันว่า เราไม่เคยเร่งรัดแต่ทำไปตามกรอบที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้บ้านเมืองสามารถเดินหน้าต่อไปได้" นายสุรชัย กล่าว