อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าขณะนี้ยังมีความเห็นแตกเป็น 2 ทาง คือ สามารถดำเนินการได้ และไม่สามารถทำได้ เพราะถ้อยคำในพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2557 กำหนดไว้ชัดเจนว่าสามารถทำเรื่องใดได้บ้าง ดังนั้น ต้องให้ที่ประชุมได้หารือกันก่อน และหากผลหารือเห็นว่าสมควรที่จะเลือกจากนั้นค่อยมากำหนดวันอีกที
ส่วนกรณีที่มองว่าไม่สามารถทำได้เพราะนอกเหนือจากถ้อยคำในพระราชกฤษฎีกานั้น นายสุรชัย กล่าวว่า อยากให้มองว่าสิ่งใดที่ทำแล้วสร้างประโยชน์กับบ้านเมืองและประเทศได้มากกว่า หากจะรอให้มีการเลือกประธานวุฒิสภาภายหลังจากที่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาทำหน้าที่ ก็ไม่แน่ใจว่าการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปรอบใหม่วันที่ 20 พ.ค.นั้นจะดำเนินการได้ หรือจะเกิดเหตุซ้ำรอยการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.หรือไม่ ดังนั้นหากรอกระบวนการดังกล่าวก็ไม่ทราบว่าจะมีการเลือกประธานวุฒิสภาเมื่อใด
นายสุรชัย กล่าวว่า การเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่นั้นไม่จำเป็นต้องยึดโควต้าว่าจะต้องมาจาก ส.ว.สายเลือกตั้ง หรือสายสรรหา เพราะสายใดก็สามารถเข้ามาทำหน้าที่ได้ แต่บุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวต้องไม่มีประวัติยึดโยงกับพรรคการเมืองทั้งในอดีต หรือปัจจุบัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาเมื่อสมัยที่ผ่านมา โดยสังคมได้ตั้งความหวังไว้กับวุฒิสภาในการร่วมแก้ไขปัญหาบ้านเมือง
ส่วนข้อกังวลว่าหากวุฒิสภาเดินหน้าเลือกประธานวุฒิสภาอาจมีปัญหาต่อการนำชื่อให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ นั้น นายสุรชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปพิจารณา ซึ่งประเด็นนี้นายกรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอน