พร้อมกันนั้น นายกรัฐมนตรีอ้างว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงไปแล้วจากการยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้ง แต่สาเหตุที่ยังต้องทำหน้าที่รักษาการอยู่นั้น เพราะเป็นไปตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้
นายกรัฐมนตรียังได้ตอบข้อซักถามของศาลฯ ว่า การโยกย้ายไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้า แต่เป็นการทาบทามของรัฐมนตรีที่กำกับดูแลงานนั้นๆ และเจ้าตัวสมัครใจ ซึ่งการแต่งตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี มาเป็นเลขาธิการ สมช. เนื่องจากมีผลงานเรื่องการดูแลความมั่นคง ส่วนที่ พล.ต.อ.วิเชียร ข้ามไปเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม ก็เป็นเพราะการทาบทามของ รมว.คมนาคมเอง
นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงว่า แม้จะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ตช.) แต่ก็ไม่สามารถแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่ง ผบ.ตร.ได้ เพราะเป็นมติเอกฉันท์ของบอร์ด อีกทั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธุ์ มีประสบการณ์ด้านงานปราบปรามยาเสพติด และมีความอาวุโส ซึ่งสอดคล้องกับ 1 ใน 16 นโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้กับรัฐสภา และตลอดเวลาที่บริหารราชการไม่เคยแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายใดๆ
ด้านนายถวิล เปลี่ยนศรี ขึ้นเบิกต่อศาลว่า การโยกย้ายตนเองออกจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ไม่ได้เป็นไปตามระบบคุณธรรมหรือประโยชน์ในการทำงาน แต่เป็นการกระทำเพื่อแก้ปัญหาภายใน สตช.ที่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ถูกกดดันที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องบ่อนพนัน ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่รองนายกฯ ซึ่งกำกับดูแล สมช.ไม่พอใจที่ตนเองเคยทำงานกับรัฐบาลก่อน
ทั้งนี้ ยังเห็นว่ากระบวนการแต่งตั้งโยกย้าย ผบ.ตร.และเลขาธิการ สมช.เป็นไปอย่างเร่งรีบและข้ามขั้นตอน โดยใช้เวลาไม่ถึง 2 เดือน เพราะหนังสือที่พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี มีความเห็นว่ามีตำแหน่งรับโอน พล.ต.อ.วิเชียร มาที่ สมช.นั้นลงวันอาทิตย์ที่ 4 ก.ย.54 แต่น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นที่กำกับดูแล สมช.ได้ลงนามเห็นชอบวันจันทร์ที่ 5 ก.ย.54 ซึ่งแสดงว่าเรื่องนี้ไม่ได้ผ่านตามขั้นตอนที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีที่กำกับดูแล สมช.ก่อนที่จะไปถึงยังรองนายกฯ แล้วจึงเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
นายถวิล ชี้แจงว่า ถึงแม้จะได้รับมอบหมายภารกิจให้ทำในตำแหน่งของที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ เพราะไม่มีเครื่องมือเพียงพอ เช่น ทีมงานที่จะเคราะห์สถานการณ์ เพื่อเสนอแนะเรื่องการแก้ปัญหาความมั่นคง ดังนั้น ตั้งแต่เข้ามาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จึงไม่ได้ดำเนินการใดๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
ด้าน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เบิกความว่า หลังจากโดนตำหนิติติงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร กรณีที่ไม่สามารถปราบปรามเรื่องบ่อนการพนันและยาเสพติด โดยเฉพาะ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล สตช.กล่าวว่า เป็นตำรวจคุมบ่อนคุมซ่องนั้น จึงทำให้ตนรู้สึกไม่สบายใจที่ภาพลักษณ์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)เสื่อมเสีย จึงนำเรื่องไปปรึกษากับ พล.ต.อ.โกวิท ว่าไม่สามารถที่จะทำงานต่อไปได้ โดยขอให้ช่วยย้ายไปทำงานที่อื่น ดังนั้นการย้ายตำแหน่งทุกครั้งจึงเป็นไปโดยสมัครใจของตัวเอง ไม่ได้ถูกบังคับขู่เข็ญแต่อย่างใด