(เพิ่มเติม) ป.ป.ช.มีมติให้ส่งวุฒิฯถอดถอน"ยิ่งลักษณ์"จำนำข้าว ปัดข่าวตั้งธงฟันทิ้งครม.

ข่าวการเมือง Thursday May 8, 2014 17:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ชี้ว่ามีมูลเพียงพอที่จะส่งเรื่องให้ที่ประชุมวุฒิสภาดำเนินการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวไปต่างประเทศ

"คดีมีมูลเพียงพอที่จะส่งให้วุฒิสภาดำเนินการถอดถอน โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 0" นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.กล่าว

นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะโฆษก ป.ป.ช. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง และมีมติด้วยคะแนน 7 ต่อ 0 เสียง เห็นว่าพฤติการของผู้ถูกกล่าวหา คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ส่อว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติทางกฎหมาย อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตำแหน่ง จึงได้นำสำนวนดังกล่าวเสนอต่อกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาในวันนี้

กรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และอยู่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งกำหนดนโยบายจำนำข้าวมาตั้งแต่ต้น และยังเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) ที่มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย มีส่วนร่วมในการบริหารโครงการ และ ป.ป.ช.เคยทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ถูกกล่าวหาถึง 2 ครั้งว่าโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่ง ทั้งจะก่อให้เกิดการทุจริตทุกขั้นตอนของกระบวนการรับจำนำ นอกจากนี้ผู้ถูกกล่าวหายังรับทราบปัญหาในการดำเนินการโครงการจากการอภิปรายในสภาฯ รวมทั้งการรายงานผลการดำเนินงานในโครงการที่ผ่านมาว่ามีผลขาดทุนสะสมสูงถึง 3 แสนกว่าล้านบาท

อีกทั้งยังมีหนังสือจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) แจ้งผลการตรวจสอบโครงการสรุปได้ว่าโครงการมีจุดอ่อนและความเสี่ยงในทุกขั้นตอนตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรจนถึงการระบายข้าว ซึ่งเป็นช่องทางนำไปสู่การสวมสิทธิการจำนำการทุจริตในโครงการ เกิดผลกระทบเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน และเกษตรกร อีกทั้งเสี่ยงต่อระบบการคลังของประเทศ ไม่เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายวิชา กล่าวว่า แม้ในชั้นนี้พยานหลักฐานยังไม่ปรากฎชัดเจนว่าผู้ถูกกล่าวหามีส่วนร่วมในการทุจริตหรือสมยอมให้เกิดการทุจริต แต่ผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภาฯ ว่าจะป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง โดยยึดหลักความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในหลักบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ทั้งไม่พิจารณายับยั้งโครงการตั้งแต่เริ่มรับทราบความเสียหายอันร้ายแรงที่สุดของประเทศ จากการดำเนินโครงการดังกล่าว

ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติ 7 ต่อ 0 ว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 11 (1) อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 จึงให้แยกสำนวนการถอดถอนส่งไปยังวุฒิสภา เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ส่วนคดีอาญานั้น ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปจนกว่าจะสิ้นกระแสความ โดยจะไม่ตัดพยานตามที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างมาในคำร้อง ขอนำสืบแก้ข้อกล่าวหาหลังสุด โดยให้นำไปพิจารณาในสำนวนคดีอาญาต่อไป

นายวิชา ยังปฏิเสธกระแสข่าวลือที่แพร่สะพัด โดยยืนยันว่า ป.ป.ช.ไม่ได้ตั้งธงเอาผิดคณะรัฐมนตรี เนื่องจากกรณีนี้เป็นความผิดเฉพาะตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีคนอื่นๆ รวมถึงนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เพราะนายนิวัฒน์ธำรง เป็นเพียงพยานในคดีนี้เท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสำนวนข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

โฆษก ป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช.จะส่งเรื่องให้ที่ประชุมวุฒิสภาดำเนินการพิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกจากตำแหน่งตามขั้นตอนภายในสัปดาห์หน้า และถึงแม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะพ้นสภาพรัฐมนตรีตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วก็ตาม แต่กระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่งของวุฒิสภานี้ยังมีเรื่องห้ามการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีด้วย

อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีทางอาญาในเรื่องนี้ ที่ประชุม ป.ป.ช.ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการไต่สวนแล้วเสร็จเมื่อไหร่ แต่จะดำเนินการต่อจากนี้ทันที และไม่ได้เป็นการรับลูกทางการเมืองตามที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ