ส่วนกรณีที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภากล่าวว่าหากวันศุกร์ที่ 16 พ.ค.รัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทยไม่ไปหารือด้วย วุฒิสภาจะตัดสินใจเองในการปรุงแต่ง ผลิตโมเดลการหาทางออกประเทศไทยโดยลำพัง นายวราเทพ กล่าวว่า รัฐบาลได้ยืนยันมาตลอดว่าหากแนวทางของทางออกหากไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของกรอบรัฐธรรมนูญก็คงเป็นเรื่องที่ปฏิบัติไม่ได้
ทั้งนี การเชิญไปพบหรือคุยขอให้มีการนัดหมายที่ชัดเจนทั้งวัน เวลา และสถานที่ กรอบการพูดคุย
"การพูดคุยที่รัฐสภามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยเนื่องจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่บริเวณหน้ารัฐสภา อย่างตอนที่ท่านผู้นำฝ่ายค้านปฏิเสธที่จะไปหารือกับ กกต.ที่ศูนย์ราชการก็เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย"
อย่างไรก็ตาม เรื่องความปลอดภัยไม่ใช่เป็นข้ออ้างว่าจะไม่ไป เพราะรัฐบาลก็ยืนยันมาตลอดว่ายินดีร่วมหารือ ร่วมเจรจา แต่ต้องมีกรอบของกฎหมาย
"อยู่ที่การประสานงานมาว่าจะพบปะพูดคุยกันที่ไหน แต่เบื้องต้นคงต้องให้ผ่านวันนี้ซึ่งจะมีการหารือกับ กกต.ไปก่อน"นายวราเทพ กล่าว
นายวราเทพ กล่าวถึงการทูลเกล้าฯ รายชื่อประธานวุฒิสภาคนใหม่ ว่า มีขั้นตอนการปฏิบัติซึ่งผู้ที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ คือ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่ขณะนี้เรื่องนี้ยังมาไม่ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่วนที่มีการทักท้วงเรื่องข้อกฎหมายในการโหวดเลือกประธานวุฒิสภาในสมัยประชุมวิสามัญ และไม่ได้มีการบรรจุอยู่ในวาระการประชุมสมัยวิสามัญจะเป็นประเด็นในการชะลอการทูลเกล้าฯรายชื่อประธานวุฒิสภาหรือไม่ นายวราเทพ กล่าวว่า เมื่อมีการทักท้วงก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เชื่อว่าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะใช้ดุลยพินิจ
ส่วนที่มีถูกมองว่าการชะลอการทูลเกล้าฯ เท่ากับเป็นการตัดตอนการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนกลางของนายสุรชัย นายวราเทพ กล่าวว่า คำว่าชะลอกับการดำเนินการตามขั้นตอนแตกต่างกัน การชะลอคือการเข้าไปแทรกแซงเพื่อไม่ให้เป็นไปตามขั้นตอน แต่ถ้าการดำเนินการตามขั้นตอนถูกมองว่าเป็นการชะลอก็อีกเรื่องนึง ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลปฏิบัติตามขั้นตอนมากกว่า